รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

07 เม.ย. 2565 | 05:30 น.

รัสเซีย-ยูเครนห้ามส่งออก ดันราคาปุ๋ยตลาดโลกพุ่ง 160-200% เกษตรกรไทยกระอัก ม.หอการค้าฯประเมินปี 65 ต้องควักจ่ายค่าปุ๋ยเพิ่มกว่า 1 แสนล้าน ข้าวมากสุด อ้อย ยางพาราตามติด ชี้ 4 ทางออกระยะสั้น-ยาว สมาคมการค้าปุ๋ยฯ จี้พาณิชย์เร่งปลดล็อกปรับราคา เปิดทางเร่งนำเข้า

 

ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียได้จำกัดโควตาการส่งออกปุ๋ย เพื่อให้ปุ๋ยเพียงพอใช้ในประเทศและไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนจากราคาปุ๋ย จากกลางปี 2564 ราคาปุ๋ยยูเรียในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 60-70% และราคาไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) เพิ่มขึ้น 20-25%

 

และเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลังสงครามเกิดขึ้น รัสเซียได้ห้ามส่งออกปุ๋ยไปตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง 48 ประเทศที่ถูกระบุไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย ทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกปรับขึ้นอีกทันที จากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับต้น ๆ ของโลก

 

รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

 

 

ขณะเดียวกันยูเครนก็ห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตรในประเทศ ที่ฤดูการเพาะปลูกของยูเครนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ส่วนจีนก็ส่งออกปุ๋ยลดลงเพื่อเก็บไว้ใช้ในประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเวลานี้ราคาปุ๋ยยูเรีย และ DAP เพิ่มจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มเป็น 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 160-200%

 

  • เกษตรกรไทยอ่วมราคาปุ๋ยพุ่ง 100%

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปุ๋ยเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 15% ของค่าใช้จ่ายของสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ทั้งนี้จากราคาแม่ปุ๋ย และปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปุ๋ยขายปลีกในไทยปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100% เช่นราคาปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปี 2563 อยู่ที่ 12,000-15,000 บาทต่อตัน ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 บาทต่อตัน ฟอสฟอรัส (P) ปีที่แล้วเฉลี่ย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 บาทต่อตัน และโพแทสเซียม (K) ราคาปีที่แล้วเฉลี่ย 9,000 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาอยู่ที่ 32,000 บาทต่อตัน

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

 

จากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประเมินค่าใช้จ่ายรวมที่เกษตรกรไทยต้องจ่ายค่าปุ๋ยปีนี้เพิ่มเป็นประมาณ 2-3 แสนล้านบาท หรือมากขึ้นกว่าปีฐาน 2558 มากกว่า 1 แสนล้านบาท (ปีฐาน 2558 เกษตรกรไทยมีค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยกว่า 1.1 แสนล้านบาท)

 

ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากใช้ปุ๋ยมาก และจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว คาดมีค่าใช้จ่ายปุ๋ยเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท ตามด้วย อ้อย 44,000 ล้านบาท ยางพารา 29,000 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 36,000 ล้านบาท และข้าวโพด 18,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นพืชอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่น ๆ

 

รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

 

  • เสนอ 4 ทางออกระยะสั้น-ยาว

 “ทางออกเรื่องปุ๋ยแพงวันนี้ประเทศไทยต้องคิดเรื่อง 1.ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเองในประเทศเหมือนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียทำ โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ภาคอีสานของไทยก็มีแร่โปแตซที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยได้ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ 2.ใช้ปุ๋ยปริมาณลดลงในรอบปีของการเพาะปลูก เช่น สมมุติเดิมใช้ 1 กระสอบ (50 กก.) ต่อ 1 ไร่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้อาจแบ่งเป็น 20 กก.ต่อ 6 เดือน ทำให้เหลือปุ๋ยอีก 10 กก.ไปใช้ในปีถัดไป 3.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วนที่มากขึ้น และ 4.ใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืชหรือต้นไม้” ดร.อัทธ์ กล่าว

 

รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

 

 ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยปี 2565-2567 คาดจะเติบโตเฉลี่ย 2.5% ต่อปี อยู่ที่ 5.6-5.8 ล้านตัน โดยมีตามความต้องการใช้ปุ๋ยของพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยพืชที่ใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ได้แก่ ข้าว (คาดเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (คาดเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี) พืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันราว 60% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด

 

รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

 

  • จี้พาณิชย์เร่งพิจารณาปรับราคา

 

ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า จากที่กรมการค้าภายในได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต การจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอ หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีนั้นขอให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป ตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริง

 

“ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า เกษตรกร และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยขอให้พิจารณาแต่ละรายให้เร็วที่สุด ทั้งการขออนุญาตนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จะส่งผลทำให้มีบรรยากาศที่ดี ทำให้บริษัทต่าง ๆ รีบสั่งเข้ามาทันที เชื่อว่าในช่วงต้นฤดูกาลของการเพาะปลูกที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ยังมีปุ๋ยเคมีพอใช้ในช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้น”

 

เปล่งศักดิ์  ประกาศเภสัช

 

  • รัสเซียเริ่มผ่อนปรนมาตรการ

 แหล่งข่าววงการค้าปุ๋ย กล่าวว่า ล่าสุดสถานการณ์ปุ๋ยเคมีตลาดโลก ลดความร้อนแรงลงหลังจากรัสเซียประกาศเพิ่มโควตาส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยสูตรอื่นๆ จากจำกัดปริมาณส่งออกตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564 ถึง 31 พ.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการจัดหาปุ๋ยเคมีทำได้ดีขึ้น และเวลานี้หลายชาติยอมจ่ายค่าซื้อสินค้ารัสเซียเป็นเงินรูเบิล

 

“ราคาปุ๋ยยูเรียเวลานี้พุ่งขึ้นไปกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หลายบริษัทแจ้งปรับราคาปุ๋ยเคมีเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ราคาสูงขึ้นมาก คนไม่ได้ถามว่าแพงหรือถูก ส่วนใหญ่ถามว่ามีของหรือเปล่า และผลพวงราคาปุ๋ยเคมีแพง ส่งผลให้ตอนนี้ปุ๋ยอินทรีย์ขาดตลาดตามไปด้วยด้วย แต่คงไม่สามารถมาทดแทนปุ๋ยเคมีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้” แหล่งข่าวระบุ

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3772 วันที่ 7 – 9 เมษายน 2565