เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (จบ)

26 มี.ค. 2565 | 02:00 น.

เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จีนยังจะเดินหน้าปฏิรูปด้านอุปทานภาคการเกษตรในเชิงรุก เพื่อให้สามารถพัฒนาทรัพยากรด้านอาหารจากทุกแหล่งและหลากหลายวิธีการ และให้มั่นใจในการซัพพลายแต่ละประเภทอาหารอย่างสมดุล 
 

การเกษตรสมัยใหม่ทำให้คนจีนมีทางเลือกด้านอาหารที่มากและหลากหลาย และเปลี่ยนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนจากยุค “ไม่พอมี ไม่พอกิน” สู่ “พอมี พอกิน” ในเวลาต่อมา จนอาจกล่าวได้ว่า จีนในปัจจุบันได้เข้าสู่ยุค “กินดี อยู่ดี” แล้ว แต่กระทรวงเกษตรและการชนบท (Minister of Agriculture and Rural Affairs) ของจีนก็ยังมีภารกิจสำคัญมากมายรอคอยอยู่ 

 

 

ประการสุดท้าย จีนมีวิสัยทัศน์ดี มองไกล และมีวินัย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” เป็นนโยบายสำคัญ โดยได้พยายามเพิ่มระดับการพึ่งพาตนเองทางด้านอาหาร แต่จีนก็ตระหนักดีว่า ภายใต้ความผันผวนของสภาพปัจจัยแวดล้อมภายนอกในปัจจุบันและอนาคต ลำพังเพียงการใช้ทรัพยากรภายในของจีนอาจไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

 

รัฐบาลจีนจึงได้พยายามเดินหน้าหลายมาตรการ และโครงการสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าชาวจีน “จะต้องมีชามข้าวพร้อมกับ” กล่าวคือมีอาหารมากพอต่อการบริโภค และสามารถตอบโจทย์ในเชิงคุณภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากจนเกินไปในระยะยาว

ในด้านหนึ่ง ท่านผู้นำจีนเรียกร้องถึงมาตรการคุ้มครองความกระตือรือร้นของเกษตรกรในการผลิตธัญพืช กระตุ้นการดำเนินการในขนาดที่เหมาะสมและได้รับผลกำไรที่มากขึ้น รวมทั้งการลดการสูญเปล่าด้านอาหาร โดยกล่าวในท่อนหนึ่งว่า “การลดความสูญเปล่าของอาหารจำเป็นต้องอาศัยพันธะสัญญาระยะยาวและความพยายามที่จริงจัง”  
 

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นรัฐบาลจีนได้พยายามผลักดันโครงการ “ปฏิบัติการกินเรียบ” (Guang Pan Xing Dong) ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งไปสู่แฟชั่นการถ่ายรูปและโพสต์รูปภาพจานอาหารหลังการบริโภค และช่วยประหยัดและลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้จำนวนมหาศาลในแต่ละปี จึงนับว่าโครงการนี้ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการบริโภคแบบ “กินทิ้ง กินขว้าง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผมเชื่อมั่นว่า โครงการดีๆ แบบนี้จะผุดขึ้นมาอีกมากในอนาคต  

 

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำจีนมองไกลโดยชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นทางออกพื้นฐานต่อความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงของแหล่งเมล็ดพันธุ์พืชเป็นประเด็นความมั่นคงของชาติ และประเทศต้องยึดมั่นต่อการสนับสนุนภาคส่วนของเมล็ดพันธุ์พืช 


นั่นหมายความว่า จีนจะส่งเสริมให้กิจการมีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม เพิ่มการวิจัยแนวหน้า และการรวบรวม ปกป้องคุ้มครอง และพัฒนาทรัพยากรเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งต้องปรับปรุงกลไกในการอนุมัติและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


โดยในชั้นนี้ จีนได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2025 ตามแนวทางการพัฒนาของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences) ซึ่งมีเครือข่ายขององค์กรกระจายอยู่ในระดับมณฑลของจีน

                                                  เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (จบ)

นอกจากนี้ จีนยังออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านการเกษตรจาก ต่างประเทศ บ่อยครั้งที่ผมไปเยี่ยมคารวะผู้บริหารของหน่วยงานในมณฑลต่างๆ และรับทราบว่า รัฐบาลจีนส่งคณะผู้แทนออกไปเชื้อเชิญกิจการด้านการเกษตรสมัยใหม่เป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในจีน  

 

ผ่านไปไม่นาน เกษตรกรรมของจีนจึงมีความทันสมัยมาก และเมื่อผนวกกับนวัตกรรมที่จีนเร่งผลักดันในปัจจุบันและอนาคต ก็จะยิ่งเพิ่มการพึ่งพาผลผลิตการเกษตรของตนเอง และยกระดับความมั่นคงด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว

 

หลายคนอาจพอจำได้ว่า ก่อนจีนเปิดประเทศไม่นาน เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนในยุคนั้นยังนำคณะมาศึกษาดูงานด้านการเกษตรของไทยอยู่เลย แต่มาถึงวันนี้ ผู้ประกอบการของไทยและอีกหลายชาติต้องกลับไปขอดูงานด้านการเกษตรของจีนกันแล้ว 

 

นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และทรัพยากรในชนบทและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ จีนยังใส่ใจกับการพัฒนาสังคมและสวัสดิการของผู้คนในพื้นที่ชนบทอีกด้วย โดยมุ่งหวังว่าการขับเคลื่อนความกระชุ่มกระชวยของภาคชนบทจะสร้างความเสมอภาคระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของทุกหน่วยของรากหญ้า 

 

จีนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการกำกับควบคุมชนบท เสริมส่งการดูแลตนเองของคนในหมู่บ้าน ทลายเครือข่ายอาชญากรรมในพื้นที่ชนบทและปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของผู้คนในสังคมจากผู้กระทำผิดกฎหมาย 

 

“จีนต้องพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันสังคมคุณภาพสูง ขณะที่เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมจะต้องได้รับการพัฒนาต่อไปเพื่อสวัสดิภาพที่ดีของภาคประชาชน” ผู้นำจีนให้แนวทางไว้  

 

โดยที่จีนได้พัฒนาระบบประกันสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจึงต้องพยายามผนวกให้ทุกคนเข้าสู่ระบบ ซึ่งครอบคลุมถึงแรงงานแบบไม่เต็มเวลา คนว่างงาน ผู้ที่บาดเจ็บจากการทำงาน และการคลอดลูก และขยายให้การประกันภัยครอบคลุมถึงคนเปราะบางทุกกลุ่ม อาทิ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ขณะที่กองทุนเงินบำนาญก็ควรได้รับการปกป้องดูแลเป็นอย่างดี

 

นโยบายการฟื้นความมีชีวิตชีวาในชนบทของจีน ไม่เพียงถูกคาดหวังว่าจะทำให้พี่น้องชาวจีนมีระดับความมั่นคงด้านอาหารที่สูงขึ้น แต่ยังจะช่วยให้เกษตรกรและผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “การกินดี อยู่สบาย” ของชาวจีนกำลังขยายวงไปสู่คนในชนบท และจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของจีนสู่ยุครุ่งเรืองในอนาคต ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,769 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2565