เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (1)

24 มี.ค. 2565 | 03:00 น.

เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ขณะที่ “เสถียรภาพ” ถูกใช้เป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาประเทศจีนในปีนี้ จีนยังหยิบยกเอา “การฟื้นความมีชีวิตชีวาในพื้นที่ชนบท” เป็นประเด็นเชิงนโยบายสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันและอาจสำคัญมากขึ้นในอนาคต อะไรทำให้ผมเชื่อมั่นเช่นนั้น ...  


 ประการแรก “การฟื้นความมีชีวิตชีวาในชนบท” นับเป็นประเด็นแรกที่รัฐบาลจีนบรรจุอยู่ในเอกสารกลางฉบับที่ 1 (No. 1 Central Document) ของจีนในปี 2022 ซึ่งหากมองย้อนหลังไปก็พบว่า นับแต่ปี 2004 รัฐบาลจีนได้บรรจุเรื่องเกษตรกรรม พื้นที่ในชนบท และเกษตรกรไว้เป็นประเด็นแรกในเอกสารกลางของจีนมาอย่างต่อเนื่อง

นั่นเท่ากับว่า เรื่องดังกล่าวถูกบรรจุในเอกสารกลางฉบับแรกของจีนต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ ถือเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญสูงและต่อเนื่องยาวนานมาก 

 

เอกสารดังกล่าวในปีนี้ ซึ่งเป็นผลสรุปจากการประชุมคณะทำงานพื้นที่ชนบทของจีนที่จัดขึ้นเป็นประจำในเดือนธันวาคมของทุกปี ยังระบุว่า “รัฐบาลจีนจะให้เกิดความมั่นใจว่า การผลิตสินค้าเกษตรของจีนจะขยายตัวและมีเสถียรภาพ รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น และความเงียบสงบเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท”

ในปี 2022 รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายผลผลิตทางการเกษตรขั้นต่ำไว้ที่ 650 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับของปีก่อน และหากดูจากผลงานที่ผ่านมา ก็คาดว่าผลผลิตที่แท้จริง ณ สิ้นปีนี้จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะในปี 2021 จีนสามารถผลิตธัญพืชได้มากเป็นประวัติการณ์ที่ 682.85 ล้านตัน ทำให้จีนมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 650 ล้านตันตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา


 ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็กำหนดพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรขั้นต่ำไว้ที่ 1,800 ล้านหมู่จีน หรือ 750 ล้านไร่ และตั้งเป้าที่จะก่อสร้างพื้นที่ฟาร์มเกษตรที่มีมาตรฐานสูงไว้ที่ 100 ล้านหมู่จีน หรือราว 42 ล้านไร่ เพื่อให้มั่นใจว่าชาวจีน 1,400 ล้านคนมีอาหารพอเพียงสำหรับการบริโภค


พื้นที่การเกษตรนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการผลิตธัญพืชและพื้นฐานความพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศจีน ซึ่งสะท้อนว่าจีนต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในการปกป้องพื้นที่ “ดินดำ” ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกจากสาขาเศรษฐกิจอื่น 


 นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังระบุอีกว่า จีนจะต้องไม่หวนคืนสู่ความยากจน หลังจากที่จีนบรรลุเป้าหมายใหญ่ในการขจัดความยากจนได้เมื่อปลายปี 2020 และเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการฉลองใหญ่ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 


 จีนยังต้องการเห็นคนจีนในพื้นที่ชนบทที่หลุดพ้นจากความยากจนดังกล่าวมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยจะนำเอาอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว และลอจิสติกส์มาเป็นกลไกสำคัญที่จะถูกใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชนบทในอนาคต 


 ในอีกประการหนึ่ง ดูเหมือนจีนจะหยั่งรู้และไหวตัวเร็ว อย่างที่ผมเกริ่นไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชนบทมากกว่าชุมชนเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่พอรัสเซียบุกยูเครน และส่งผลให้เกิดวิกฤติโลกด้านพลังงานและอาหารขึ้นมา รัฐบาลจีนก็ตอกย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้ในเชิงนโยบายยิ่งขึ้นไป 


 ประเด็นนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคฯ ในฐานะผู้นำจีนได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ ในส่วนของการประชุมกลุ่มย่อยระหว่างภาคการเกษตรร่วมกับสวัสดิการและความมั่นคงทางสังคมในระหว่างการประชุมสองสภาเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา  


ทั้งนี้ ผู้นำจีนได้กล่าวเน้นย้ำในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาว่า “จีนจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการเพิ่มกำลังการผลิตทางการเกษตร และพยายามอย่างไม่ลดละที่จะรักษาความมั่นคงทางด้านธัญพืช” 

                                เมื่อจีนฟื้นความมีชีวิตชีวาชนบท พึ่งพาอาหารภายในประเทศ (1)
 คำกล่าวของผู้นำจีนตอกย้ำว่า ความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นประเด็นสำคัญของจีน จีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาระดับผลผลิตสินค้าเกษตรหลัก และการรักษาความมั่นคงด้านอาหารจะยังคงเป็นภารกิจในระยะยาว และนับเป็นหนึ่งในประเด็นที่ประเทศไม่อาจปล่อยผ่านแบบขอไปทีได้ ดังนั้น จีนจึงต้องสนับสนุนด้านการเกษตรอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตธัญพืช 


 นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังปฏิเสธข้อคิดที่ว่า ความมั่นคงด้านอาหารไม่มีความสำคัญอีกต่อไปในยุคอุตสาหกรรม หรือว่า จีนสามารถพึ่งพาตลาดระหว่างประเทศเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา 


 “จีนต้องรักษาเสถียรภาพการผลิตอาหารหลักและข้าวโพด ขยายพื้นที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองและพืชน้ำมัน รักษาผลผลิตทางการเกษตรมากกว่า 650 ล้านตัน และสร้างความมั่นใจในการพึ่งพาอาหารของตนเอง” สี จิ้นผิง กล่าวอย่างหนักแน่น


อย่างที่คนไทยเชื้อสายจีนมีคำกล่าวอมตะที่ว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่ ...” การกินจึงถือเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และอาหารเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาชน   


หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่จีนปิดประเทศ ภัยสงครามที่ต่อเนื่องยาวนานทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้คนจีนต้องอดอยากปากแห้ง หลายร้อยล้านคนต้องขาดอาหาร และจากบันทึกประวัติศาสตร์จีนยังพบว่า ในบางปี คนจีนเสียชีวิตจากการขาดอาหารนับล้านคนก็มี 


ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตรสมัยใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จีนสามารถเลี้ยงผู้คนคิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรโลก ทั้งที่มีพื้นที่การเพาะปลูกเพียง 9% และแหล่งน้ำจืดเพียง 6% ของโลก  


 จีนยังต้องพยายามใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดในทุกภาคส่วน โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการรับประกันปริมาณการผลิตเนื้อ ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ประมงที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายซัพพลายอาหารจากป่าไม้ แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล และพื้นที่แหล่งอื่น

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565