7 ซีอีโอมองไทย“ปีเสือ” สัญญาณบวกมากกว่าลบ เทคโนโลยี-โควิด-ศก.โลกตัวแปร

03 ม.ค. 2565 | 03:31 น.

โบกมือลาปีวัว 2564 “ปีเสือ” 2565 เข้ามาแทนที่ ท่ามกลางกระแสโลกยังต้องต่อสู้กับไวรัสร้ายโควิด-19 เป็นปีที่ 3 ทิศทางเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยในปีใหม่นี้จะเป็นอย่างไรนั้น

 

7 ซีอีโอมองไทย“ปีเสือ” สัญญาณบวกมากกว่าลบ เทคโนโลยี-โควิด-ศก.โลกตัวแปร

“ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลมุมมองซีอีโอในหลากหลายภาคธุรกิจ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ในภาพรวมประเมินปี 2565 มีสัญญาณบวกในทิศทางที่ดีขึ้น แต่บางมุมมองประเมินชัดเจนว่ายังเป็นปีที่แวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงที่หนักหน่วง

 

COP26สะเทือนไทย-ให้แจกงานแทนแจกเงิน

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ไปคงเข้าสู่โหมดการขยายตัว แต่จะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามศักยภาพของแต่ละประเทศ มีสัญญาณหลาย ๆ อย่างเริ่มชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 เช่น การเร่งการผลิตสินค้าหลายชนิด จนทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยังไม่พร้อมหลังจากหยุดไปนานจนติดขัดจากผลกระทบโควิด ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบบางรายการ การบริหารการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คล่องตัว แต่ปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นในปี 2565 และส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับแม้ว่าโควิดยังมีอยู่ แต่ความสามารถในการรับมือกับโควิดของแต่ละประเทศก็พัฒนาไปมากเช่นกัน 

 

พงศ์เทพ  เทพบางจาก

 

สิ่งที่ไทยต้องเฝ้าจับตาและปรับตัวตามให้ทัน เพราะอาจได้รับผลทั้งทางบวกและลบในระบบเศรษฐกิจโลกสำหรับปีหน้า ส่วนตัวให้น้ำหนัก 2 ประเด็นใหม่ ประเด็นแรก ต้องดูว่าจะมีการยกเลิกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) และขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นจากผลของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ หรือไม่ ถ้ามาเร็วไทยต้องตามให้ทันเนื่องจากมีผลต่อการไหลของระบบการเงินระหว่างประเทศ  

 

 

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งคงมีการกำหนดมาตรการหลาย ๆ อย่างออกมาจากประเทศใหญ่ ๆ เพื่อใช้บังคับกับประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลระทบกับไทยเต็ม ๆ เพราะ GDP ไทยพึ่งภาคส่งออกสัดส่วนสูง แต่อีกด้านคาดว่าหายนะด้านภูมิอากาศน่าจะดำรงอยู่ต่อไปและน่าจะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านอาหารที่อาจขาดแคลนหรือราคาแพงขึ้นในระดับโลก ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและส่งออกอาหารไทย

 

ในส่วนรัฐบาลควรเปลี่ยนแนวคิดจาก “แจกเงินเป็นแจกงาน” แทน เพราะปัญหาเร่งด่วนคือมีคนตกงานและว่างงานเพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยวที่ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนในปี 2562 เมื่อนักท่องเที่ยวหายไปและคงยังไม่กลับมาเพิ่มเหมือนเดิม ดังนั้นในปี 2565 ต้องหางานให้คนเหล่านี้ รวมถึงเด็กจบใหม่ที่ทยอยออกมาอีก ซึ่งรัฐบาลควรใช้มาตรการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผ่านการลงทุนทั้งจากผู้ลงทุนในประเทศและต่างชาติ 

 

7 ซีอีโอมองไทย“ปีเสือ” สัญญาณบวกมากกว่าลบ เทคโนโลยี-โควิด-ศก.โลกตัวแปร

 

 

จี้เร่ง 5 เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวราว 1.2% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากปี 2563 ที่ติดลบไป 6.1% และยังคาดว่าปี 2565 จะขยายตัวต่อเนื่องราว 3.5-4.5% ถือเป็นการฟื้นตัวที่เป็นไปค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นปี 2565 ไทยต้องเร่งเครื่องให้มากขึ้น ซึ่ง 5 เครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมาตรการและกฎระเบียบของรัฐ 

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

สำหรับการค้ายุคใหม่นี้ มาตรฐานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น ผู้ประกอบการที่ปรับตัวทันจะเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้ก่อน ส่วนที่ปรับตัวไม่ทัน อาจต้องหันไปหาตลาดที่ยังไม่บังคับใช้มาตรการเหล่านี้ และเริ่มปรับระบบการผลิตให้ทันการค้ายุคใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ควบคู่กับการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 

 

ฟันธงเศรษฐกิจไทยปีเสือฟื้นตัว

นายธีรพงศ์ นคราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส ซี แกรนด์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ยังมีมุมมองเป็นบวก คาดจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 จากมีการทยอยเปิดประเทศมากขึ้นทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น สภาพคล่องจะดีขึ้นถึงแม้ธุรกิจบางประเภทจะเข้าสู่ช่วงถดถอยแต่ก็จะมีธุรกิจประเภทใหม่เกิดขึ้นมารองรับการใช้ชีวิตยุคใหม่เช่นกัน ดังนั้นภาพรวมก็จะไม่แตกต่างไปมากนัก อุปสงค์หลัก ๆ พวกอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโลก ที่อยู่อาศัย ความต้องการความสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิต การพักผ่อนหย่อนใจยังมีเหมือนเดิม แต่คนจะใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

ธีรพงศ์  นคราวงศ์

 

หลังเปิดประเทศ ไทยจะได้อานิสงส์จากสินค้าหลัก ๆ ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจคือ การท่องเที่ยว งานบริการทางการแพทย์ อาหาร ผลไม้ ส่งผลให้สภาพคล่องในประเทศมีมากขึ้น เพราะเครื่องยนต์อื่นๆ ที่ทีผลต่อ GDP เช่นการใช้จ่ายภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยวจะทำงานดีขึ้น หลังจากเครื่องยนต์จากการใช้จ่ายภาครัฐทำงานหนักมานาน สรุปว่าปี 2565 บรรยากาศเศรษฐกิจในไทยจะผ่อนคลายมากขึ้นจนพัฒนาไปถึงขั้นฟื้นตัว และตามด้วยเฟื่องฟูตามวัฏจักรในอีกไม่กี่ปีนี้ 

 

ห่วงเทคโนโลยีไทยยังอยู่ 2.0

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ให้มุมมองว่า หากมองเฉพาะปี 2565 เทียบกับปี 2564 ค่อนข้างมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นบวก โดยมองว่าประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการโควิด-19 ได้ดีเหมือนสองปีที่ผ่านมา อีกทั้งเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นตัวช่วยฉุดดึงเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ของประเทศตามไปด้วย และถ้ามองลึกลงไปในภาคอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะปี 2565 จะมีทั้งสัญญาณบวกและลบอยู่ด้วยกัน โดยภาพที่เป็นบวกจะมาจากอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังคงขยายตัว และไทยจะได้รับประโยชน์ 

 

สัมพันธ์  ศิลปนาฎ

 

 “ผมยังกังวลมากในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าว่า ถ้าประเทศเรายังไม่ขยับเรื่องเทคโนโลยี ยังคงอยู่ที่ 2.0 ค่อนข้างมากจะทำให้ดัชนีด้านการแข่งขันของไทยเราจะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ อย่างรุนแรง สรุปคือปี 2565 น่าจะมีปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบแต่ภาพเศรษฐกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังมีความเสี่ยงสูงขึ้นในปีถัดๆ ไป โดยเฉพาะ SME ถ้าเรายังไม่พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีให้ไปสู่ 3.0 และ4.0” 

 

รัฐ-เอกชนไม่ทรานส์ฟอร์มอยู่ยาก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า ปี  2565 คาดเศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้น GDP น่าจะโตได้ 3-4% จาก 1. การบริโภคภายในประเทศเริ่มดีขึ้น จากการกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) ที่เราจะอยู่กับโควิดแบบไม่ล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกยังเป็นพระเอก จากได้อานิสงส์เศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้นและเงินบาทอ่อนตัว และการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ดีขึ้นต่อเนื่อง จากสงครามการค้าและการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุน 

 

จรีพร  จารุกรสกุล

 

 อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจรอบนี้มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านซัพพลายเชน ตามด้วยกระแสของสิ่งแวดล้อม Net Zero ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการทั่วโลก ถ้ายังไม่ปรับตัวทำ Digital Transformation การ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจ การเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ที่สำคัญที่สุดคือ ภาครัฐต้องปรับตัว ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง เปลี่ยนจากผู้คุมกฎมาเป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชนให้แข่งขันกับทั่วโลกให้ได้ 

 

เร่งลงทุน-อัดฉีดงบรัฐเพิ่มตัวเลขจีดีพี

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า ปี2565 โควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” จะยังคงตามหลอกหลอนชาวโลก ที่ยังต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของไทย แม้ปัจจุบันได้เปิดประเทศแบบมีแผนการควบคุมที่รัดกุม แต่ก็ยังต้องประเมินผลจากทุกปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดผลดีและผลเสียต่อไปอีกระยะหนึ่ง หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไทยจะได้เปรียบคู่แข่งขัน 

 

กริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

 “ปัจจัยทางเศรษฐกิจไทย ไม่ได้มีเพียงการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนเท่านั้น ยังมีตัวเลขทางด้านอื่นๆ อีกสามตัว ได้แก่ ด้านการลงทุน ด้านงบประมาณจากภาครัฐ และด้านการส่งออกและนำเข้า หากมองแต่ละด้านแล้ว ด้านการส่งออกและนำเข้า จะช้ากว่าการลงทุนและการอัดฉีดงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นหากจะให้ผลที่แรงกว่านี้ รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปทั้งสองปัจจัยดังกล่าวให้หนักขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้มากกว่านี้อีกแน่นอน โดยรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 น่าจะขยายตัวได้มากกว่าปี 2564 เพียงแต่ไม่สามารถขยายตัวได้มากจากผลกระทบโควิด”

 

หยุดคอรัปชั่น-เร่งจัดระเบียบสังคมไปรอด

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองประธานกรรมการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมาก จากมีปัจจัยที่ผันผวนหลายประการมาเกี่ยวข้อง ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นปัจจัยชี้ว่าจะทำให้เกิดความแปรปรวนและ ความชะงักงันทางเศรษฐกิจทั่วโลกอีกหรือไม่     

 

นิพิฐ  อรุณวงษ์ ณ อยุธยา

 

“ส่วนตัวคิดว่าปัญหาเรื่องโควิดน่าจะไม่รุนแรงเท่าที่ผ่านมาเนื่องจากได้มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในโลกที่ค่อนข้างเจริญทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ก็จะยังมีปัญหาในโลกที่สามที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้พอเพียงต่อความต้องการ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอีกหลายประเทศก็เริ่มมีปัจจัยเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาภายในเพิ่มขึ้น จึงมองว่าเศรษฐกิจในปี 2565 น่าจะมีความแปรปรวนมากพอสมควรและจะยังมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น คนส่วนใหญ่ก็จะต้องอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Surviving & Recovering หรือปรับตัว แก้ไขปัญหาต่างๆ และอยู่ให้รอดจากความกดดันรอบด้านที่เกิดขึ้น 

 

 “สิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาต้องแก้ไขจากนักการเมือง ผู้บริหารและนโยบายของประเทศ เรื่องสำคัญที่สุดคือต้องหยุดการคอรัปชั่นที่มีอย่างมหาศาลในขณะนี้ รวมทั้งการจัดระเบียบสังคมที่ถูกต้อง ลดความแตกแยกที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองถึงจะไปรอดได้”

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3745 วันที่ 2-5 มกราคม 2565