วิกฤติพลังงานในแดนมังกร เรื่องที่คุณต้องรู้ (1)

06 ต.ค. 2564 | 08:11 น.

วิกฤติพลังงานในแดนมังกร เรื่องที่คุณต้องรู้ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นแหล่งรวมสารพัดข่าวใหญ่ในจีน ข่าววิกฤติการเงินของเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) หรือ “เหิงต้า” (Hengda) ยังไม่ทันจางหาย ก็ตามมาเขื่อนด้วยข่าวการกลับคืนสู่มาตุภูมิดุจวีรสตรีในยุคใหม่ของ “เมิ่ง หว่านโจว” รองประธานและซีเอฟโอของหัวเหว่ย (Huawei) และการประทุของวิกฤติพลังงานในจีน จนเกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า ทำไมจีนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ และจะกระทบกับไทยเราหรือไม่ อย่างไร...

 

อันที่จริง ปัญหาวิกฤติพลังงานของจีนในครั้งนี้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มาเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หัวใจสำคัญของปัญหาในครั้งนี้ก็คือ การขาดแคลนถ่านหิน แหล่งข่าวระบุว่า สต็อกถ่านหินในจีนหร่อยหรออย่างเคยเป็นมาก่อน ซึ่งก็นำไปสู่คำถามใหม่อีกว่า ทำไมจีนจึงขาดแคลนถ่านหินรุนแรงขนาดนี้ จากการศึกษาพบว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ประเดประดังเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา

 

       ประการแรก การหดหายไปของอุปทานถ่านหินจากต่างประเทศ ภายหลังรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวหาและขอให้ตรวจสอบจีนว่า เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลจีนก็ประกาศแบนการนำเข้าสินค้าออสเตรเลีย ซึ่งหนึ่งในสินค้าสำคัญก็คือ ถ่านหิน

                                วิกฤติพลังงานในแดนมังกร เรื่องที่คุณต้องรู้ (1)

ในระหว่างปี 2015-2020 จีนนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียประมาณ 70-80 ล้านต่อปี ถือเป็นแหล่งถ่านหินที่จีนนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ยังดีที่จีนกระจายการนำเข้าจากหลายแหล่งมากขึ้น อาทิ รัสเซีย มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ ทำให้สัดส่วนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 35% ลงเหลือ 26% ของปริมาณการนำเข้าของจีนโดยรวม

 

หลายท่านอาจสงสัยเพิ่มเติมอีกว่า ในเมื่อจีนมีแหล่งถ่านหินสำรองมากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ทำไมต้องนำเข้าถ่านหินอีก ผมขอเรียนว่า แหล่งถ่านหินภายในประเทศของจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน (มณฑลซานซี ส่านซี มองโกเลียใน และเหอหนาน) และอีสานจีน (มณฑลเฮยหลงเจียง จี๋หลิน และเหลียวหนิง) ซึ่งทำให้ไม่มีความได้เปรียบด้านราคาและลอจิสติกส์มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับของถ่านหินนำเข้า

 

ประการที่ 2 การลดลงของอุปทานถ่านหินภายในประเทศ วิกฤติอุทกภัยในมณฑลเหอหนานและพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นแหล่งถ่านหินสำคัญของจีนในช่วงกลางปีที่ผ่านมา และการออกกฎหมายด้านความปลอดภัยฉบับใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ก็กำหนดบทลงโทษถึงขั้นถูกสั่งปิดกิจการในกรณีที่เหมืองใดประสบอุบัติเหตุและก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก็ทำให้เหมืองถ่านหินหลายแห่งต้องเพิ่มความระมัดระวังด้านการผลิต และบางแห่งก็ปิดตัวลงชั่วคราว อันส่งผลให้อุปทานถ่านหินภายในประเทศหดหายไปอีกส่วนหนึ่ง

 

ประการที่ 3 อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในด้านอุปสงค์ จำนวนประชากรที่มากที่สุด เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และความเป็น “โรงงานของโลก” ทำให้การใช้พลังงานของจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนถือเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก

 

เพื่อสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว จีนจึงต้องผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยมากกว่า 3 อันดับถัดมาอย่างสหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซียรวมกันเสียอีก

 

        แถมในเชิงโครงสร้าง จีนก็ใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึงราว 60% ของทั้งหมด ขณะที่แหล่งพลังงานสีเขียวที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีหลัง มาจากพลังงานน้ำ 20% และพลังงานลมและแสงอาทิตย์อีกแหล่งละราว 10%

 

        ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้จีนเป็นประเทศที่ใช้พลังงานฟอสซิลมากที่สุดในโลก กล่าวคือ จีนใช้ถ่านหินคิดเป็นถึงราว 25% ของปริมาณถ่านหินที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งก็ทำให้ปริมาณการผลิตถ่านหินภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ

 

        ประการที่ 4 ปัญหาความสลับซับซ้อนมากขึ้นในเชิงคุณภาพ ในด้านหนึ่งนอกจากความไม่พอเพียงของถ่านหินในเชิงปริมาณแล้ว ถ่านหินจีนยังมีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

 

        ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ก็กำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญยิ่งกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงนิยมเลือกใช้แหล่งถ่านหินนำเข้าที่มีคุณภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับของแหล่งถ่านหินภายในประเทศ

 

        การมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นประเด็นหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้าที่จีนต้องการ ท่านผู้อ่านอาจทราบว่า ผู้นำจีนก็ยังประกาศเป้าหมายการใช้พลังงานฟอสซิลและปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในปี 2030 และกำหนดวิสัยทัศน์ที่จีนจะบรรลุความเป็นกลางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2060

 

          ในระดับระหว่างประเทศ การประชุมหารือทางโทรศัพท์ระหว่าง โจ ไบเดน กับ สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาก็ครอบคลุมถึงเรื่องการร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งกระแสข่าวระบุว่า ผลจากการหารือก็ตามมาด้วยข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรที่อยากเห็นจีนขยับเป้าหมายความเป็นกลางด้านคาร์บอนให้เร็วขึ้น 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดไว้

 

         นอกจากนี้ การประชุม COP26 Climate Summit ที่จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2021 ณ กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งจะมีผู้นำและผู้แทนระดับรัฐมนตรี รวมทั้งผู้บริหารชั้นนำของอุตสาหกรรมและนักคิดจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม โดยตั้งเป้าที่จะลดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564