เมื่อธุรกิจกวดวิชาถูกแปลงเป็นกิจการไม่แสวงหากำไร (จบ)

19 ส.ค. 2564 | 05:00 น.

เมื่อธุรกิจกวดวิชา ถูกแปลงเป็นกิจการไม่แสวงหากำไร (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3706 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค.2564

ประการสำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสมัย สี จิ้นผิง ก็ดูจะไม่เห็นด้วยกับ “ธุรกิจการศึกษานอกเวลา” โดยในช่วงหลายปีหลัง ผู้นำจีนได้เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกวดวิชาในจีนในหลายโอกาส โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดกฎหมายด้านการศึกษา และเป็นภาระแก่พ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กจีน

 

ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็เคยออกโรงมาเตือนให้รัฐบาลจีนเพิ่มระดับการคุมเข้มธุรกิจนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือและความกังวลใจของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ 

 

ในมุมมองของรัฐบาลจีน การเรียนพิเศษต้องไม่ใช่ “สิ่งจำเป็น” สำหรับเด็กจีน ดังจะเห็นได้จากการแสดงท่าทีและความคิดเห็นเชิงลบของผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ และรัฐบาลจีนต่อการเติบใหญ่ของธุรกิจสอนพิเศษในจีน 
และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2021 ฟ้าก็ผ่าลงมาใส่สถาบันกวดวิชาในจีนจนได้

 

เมื่อคณะรัฐมนตรีจีน ได้มีมติกำหนดให้ธุรกิจบริการสอนพิเศษต้องอยู่ในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหากำไร ห้ามมิให้มีการกวดวิชาหลักในช่วงวันหยุดและช่วงหยุดยาวพักผ่อนที่มุ่งหวังเพื่อการผ่านการสอบ และห้ามหลักสูตรหรือการจ้างงานติวเตอร์ต่างชาติที่อาศัยอยู่นอกจีนในการสอนทางไกล หลังการประกาศมาตรการดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการของจีนก็สั่งระงับการออกใบอนุญาตสถาบันสอนพิเศษในทันที 


ทั้งนี้ โดยให้เหตุผลของการออกมาตรการในครั้งนี้ว่ามิได้มุ่งเป้าไปที่การลดบทบาทและโอกาสของภาคธุรกิจ แต่ต้องการจัดระเบียบการศึกษาจีนให้ถูกต้องเหมาะสม และพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยรวม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาครั้งใหม่ของรัฐบาลจีน 
 

ผลจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบในหลายมิติ โดยในเชิงเศรษฐสังคม มาตรการนี้ก็น่าจะช่วยให้ครอบครัวคนจีนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษไปได้มาก ซึ่งน่าจะทำให้คนจีนมีมาตรฐานการครองชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีเวลาให้กันและกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจทำให้การท่องเที่ยวเชิงครอบครัวได้รับความนิยมในอนาคต 

 

นอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่าย จีนยังถือโอกาสจัดระเบียบลดบทบาทของต่างชาติในการบริหารจัดการธุรกิจ จัดทำหลักสูตร และการสอนพิเศษในจีน โดยกำหนดการขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตของครูผู้สอนและตำแหน่งอื่นกับหน่วยงานภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนนี้นอกจากจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพการเรียนการสอนแล้ว ยังโยงไปถึงการจ้างงานคุณภาพของจีน รวมทั้งยังต้องการลดระดับการแทรกแซงทางความคิด และความสนใจของเด็กจีนในการศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก ในอนาคต

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากมาตรการดังกล่าวก็คาดว่าจะลดบทบาททางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการศึกษาในจีน ดังจะเห็นได้ว่าผลประกอบการของธุรกิจการศึกษารายใหญ่ดังกล่าวลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับของปีก่อน และส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการที่เกี่ยวข้องดิ่งลงถึง 40-70% อย่างรวดเร็ว 

 

หลายธุรกิจการศึกษาต่างเทขายหุ้น แต่ก็ดูจะไม่ค่อยมีนักลงทุนรายใดสนใจซื้อหุ้นดังกล่าว ขณะที่สตาร์ตอัพที่พัฒนาซอฟท์แวร์ด้านการศึกษาก็พับฐานธุรกิจนี้ไปเลยก็มี

 

นอกจากนี้ ผู้ปกครองของเด็กจีนก็ดูจะกังวลใจไม่น้อยกับมาตรการดังกล่าว บางส่วนเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ลูกหลานที่ใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเสียโอกาส และอาจพลาดหวังในเส้นทางชีวิต ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า มาตรการนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจนออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเข้ามารองรับในเร็ววันก่อนเกิดผลกระทบในเชิงลบ

 

ในเชิงการเมือง บางส่วนมองว่ามาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างระบบนิเวศ เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายลูกสามคนให้พร้อมสรรพยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินอุดหนุน การขยายวันลาคลอด และอื่นๆ แก่ลูกมีลูกคนที่ 3 ที่คณะกรรมการประจำกรมการเมือง “โพลิตบูโร” ประกาศสนับสนุนไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา 

 

และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ ในราวเดือนมีนาคม 2022 ที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ (National Party Congress) จะพิจารณาเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ของจีน การเตรียมกลไกใหม่ในการปรับโครงสร้างและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ควรมองข้าม

 

ภายหลังมาตรการดังกล่าว รัฐบาลจีนก็พยายามลดแรงกดดันจากผลกระทบที่มีต่อครูผู้สอน ด้วยการจัดทำโครงการฝึกอบรมภาคฤดูร้อนในวงกว้าง 

 

โดยในหลายเมืองใหญ่ โรงเรียนของภาครัฐก็ว่าจ้างครูในอัตราวันละ 500 หยวน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่อัตราที่สูงเท่าสถาบันกวดวิชาของเอกชน แต่ก็นับว่าสูงขึ้นกว่าอัตราเดิม แต่ครูเหล่านี้อาจมีทางเลือกจำกัด เพราะหากไม่ให้ความร่วมมือในโครงการ ก็อาจมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าของอาชีพการงานประจำในอนาคต

 

อันที่จริง ในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจีนได้พยายามดำเนินการคู่ขนานในหลายด้าน เพื่อหวังยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาของจีน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ และการนำเอานวัตกรรมเครื่องอุปกรณ์ด้านการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบการศึกษาระดับอาชีวะ

 

ในเชิงปริมาณ จีนเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาอาชีวะที่ใหญ่สุดในโลก ส่วนสำคัญเพื่อรองรับนักเรียนที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และต่อมายังใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายหลักอื่นของรัฐบาล อาทิ Made in China 2025 และ Belt and Road Initiative

 

เฉพาะในปี 2020 จีนจัดสรรงบประมาณให้การศึกษาระดับอาชีวะถึง 25,710 ล้านหยวน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรในด้านนี้ทั้งในเชิงจำนวน คุณภาพ และภูมิศาสตร์ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาของจีนในทุกระดับเพื่อยกระดับขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ของจีนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ระบบการศึกษาจีนยังมีการบ้านอยู่อีกหลายข้อ เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจีนจะปล่อยไม้เด็ดอะไรออกมาอีกเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาของจีนในอนาคต ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน