เมื่อธุรกิจกวดวิชา ถูกแปลงเป็นกิจการไม่แสวงหากำไร (1)

16 ส.ค. 2564 | 07:16 น.

เมื่อธุรกิจกวดวิชา ถูกแปลงเป็นกิจการไม่แสวงหากำไร (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3705 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค.2564  

หลังการฉลอง 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมาที่สามารถบรรลุเป้าหมายให้จีนหลุดพ้นจากความยากจน และการขยับสถานะจีนขึ้นสู่ประเทศพัฒนาแล้วระยะต้นได้สำเร็จ จีนก็เดินหน้าขยับสู่ศตวรรษที่สองของพรรคฯ ด้วยเป้าหมายใหม่ ทั้งในด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และ การศึกษา  

 

ในด้านการศึกษา จีนตั้งเป้าที่จะยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ด้วยความใหญ่ของจีนในเชิงภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์ ทำให้การพัฒนาระบบการศึกษาถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เราจึงมักได้ยินว่า ระบบการศึกษาของจีนไม่เพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และภูมิศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นรากเหง้าที่สำคัญของปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพดีก็กระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ตอนกลาง และด้านซีกตะวันตกของจีน ที่มีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ แต่มีจำนวนประชากรน้อยและกระจายตัว ก็อาจแฝงไว้ซึ่งปัญหาการเข้าถึงสถานศึกษา 

 

ในหลายเมืองใหญ่ จีนได้กำหนดโควต้านักเรียนส่วนหนึ่งแก่ครอบครัวที่มีสำมะโนประชากรอยู่ในพื้นที่ก่อน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา ครอบครัวที่มีฐานะการเงินดีก็พร้อมที่จะลงทุนซื้อที่พักอาศัยในเขตที่มีโรงเรียนที่มีคุณภาพดี เพื่อหวังให้ลูกได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่านั้น และเพิ่มโอกาสในการสอบผ่านเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดีๆ ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป 


แม้ว่าเศรษฐกิจจีนเติบใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนจีนมีฐานะที่ดีขึ้น แต่ปัญหาก็คือ ที่พักในเมืองใหญ่ของจีน โดยเฉพาะในเขตที่มีโรงเรียนคุณภาพดี มักมีราคาแพงมากยิ่งกว่า ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้คนชั้นกลางและระดับล่างจำนวนมากไม่สามารถซื้อหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้

ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงยอมส่งเสียให้ลูกหลานที่มีอยู่น้อยคนในปัจจุบันตามนโยบายลูกคนเดียวและลูกสองคน เข้าเรียนพิเศษ เพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพที่มีอยู่ ลดความเหลื่อมล้ำในมาตรฐานการเรียนการสอน และไม่ให้ลูกหลาน “ตกขบวน” รถไฟสู่อนาคต รวมทั้งอาจไม่ต้องลำบากเหมือนตนเอง และมีสถานะทางสังคมที่ดี 

                                      เมื่อธุรกิจกวดวิชา ถูกแปลงเป็นกิจการไม่แสวงหากำไร (1)

ผลของการสำรวจระบุว่า เด็กจีนกวดวิชาและเรียนพิเศษกันเพิ่มขึ้นจาก 65% ของจำนวนนักเรียนโดยรวมในปี 2016 เป็นถึง 92% ในปี 2021 

 

ว่าง่ายๆ เด็กจีนเกือบทั้งหมดเข้าสู่ระบบการกวดวิชา โดยหลักสูตรพิเศษมีความหลากหลาย ทั้งส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสอบ “เกาเข่า” เข้ามหาวิทยาลัย อาทิ ภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์ และในทางอ้อมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพหรือเป็นงานอดิเรกของเด็ก อาทิ การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การวาดรูป ดนตรี กีฬา การชงชา และอื่นๆ 

 

ประเด็นสำคัญ การเรียนพิเศษเป็นภาระทางเศรษฐกิจอันหนักอึ้งแก่พ่อแม่ และผู้ปกครองในจีน บางครอบครัวต้องจ่ายราว 5,000 หยวนในคอร์สติวพิเศษระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่บางส่วนต้องจ่ายสูงถึงชั่วโมงละ 100-200 เหรียญสหรัฐฯ

 

สำหรับการติวพิเศษแบบส่วนตัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นยอดในต่างประเทศ ส่งผลให้ครอบครัวจีนที่มีฐานะยากจนอาจต้องใช้เงินถึง 1 ใน 3 ของรายได้ครอบครัวไปกับการสนับสนุนการเรียนพิเศษ 

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นตลาดการกวดวิชาในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของไอรีเสิร์ซ  (iResearch) ระบุว่า ในระหว่างปี 2016-2019 ตลาดการสอนพิเศษของจีนขยายตัวถึง 79% หรือเฉลี่ยเฉลี่ยเกือบ 20% ต่อปี ผมประเมินว่า ธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดถึง 1 ล้านล้านหยวนในปัจจุบัน


สถาบันการสอนพิเศษกลายเป็นธุรกิจใหญ่ในจีนอย่างคาดไม่ถึง กิจการรายใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะปีละ 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาทิ TAL Education Group และ Gaotu Techedu ต่างลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ขณะที่สถาบันสอนภาษาชื่อดังอย่าง New Oriental Education and Technology Group ที่มีเครือข่ายสาขาถึง 1,100 แห่งทั่วจีน ก็ลิสต์ในตลาดหุ้นฮ่องกง 

ทั้งนี้ ในปี 2020 ธุรกิจสถาบันการศึกษานอกเวลาได้เข้าไปลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และสหรัฐฯ รวมถึง 70 ราย 

 

ขณะเดียวกัน วิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้สถาบันสอนพิเศษผันตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ขณะที่บิ๊กเทคจำนวนมากก็ขยายเข้าสู่ธุรกิจการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน 

 

ยกตัวอย่างเช่น อาลีบาบา (Alibaba) ลงทุนเปิดสถาบันสอนพิเศษ “โจ๋วเย่วปัง” (Zuoyuebang) ขณะที่เทนเซ้นต์ (Tencent) ก็ลงทุนใน “หยวนฝูต่าว” (Yuanfudao) 

 

นอกจากนี้ ตีตี (Didi) แพล็ตฟอร์มเรียกรถแท็กซี่ชื่อดังของจีน ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแพล็ตฟอร์ม “โต่วอิน” (Douyin) หรือ “ติ๊กต็อก” (TikTok) ที่คนไทยรู้จัก และบิ๊กเทคอีกหลายรายก็ไม่อยากตกขบวนด้วยเช่นกัน 

 

ในช่วงหลายปีหลังนี้ การผุดตัวของสตาร์ตอัพจีนเหล่านี้ ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยแต่ละรายยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนจีนและต่างชาติ อาทิ กลุ่มซอฟท์แบ้งค์ (SoftBank Group) กว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

 

แต่โดยที่จีนเป็นรัฐสังคมนิยมที่ต้องการบริการสาธารณะถ้วนหน้า แต่ในความเป็นจริง ระดับรายได้ของคนที่อยู่ในแต่ภูมิภาค หรือระหว่างในเมืองกับชนบท ก็ยังแตกต่างกันอยู่มาก ยิ่งพอปล่อยให้ระบบการเรียนพิเศษกลายเป็นเสมือนเงื่อนไขภาคบังคับสำหรับอนาคตความสำเร็จของเด็ก ก็ทำให้คนที่มีฐานะดีและสามารถสนับสนุนลูกเข้าเรียนพิเศษ ได้เปรียบเหนือลูกหลานคนจน และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน