เมื่อไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมาเลเซีย

27 เม.ย. 2564 | 11:45 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความถึงความเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซีย ระบุ ณ ปัจจุบันไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง

เมื่อไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมาเลเซีย

การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย “น่าสนใจมาก” เพราะประสบความสำเร็จ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซียเป็นแบบ “พึ่งพิงซึ่งกันและกัน” ทั้งด้านการค้า การลงทุน ท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า มาเลเซียพึ่งพิงสินค้าเกษตรและแปรรูปจากไทย ไทยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่เข้ามาไทยเป็นอันดับสองรองจากจีน ปีละ  4 ล้านคน เกินร้อยละ 50 (2.3 ล้านคน) เข้ามาทางด่านชายแดน สะเดาและปาดังเบซาร์ (ปี 2562) นักท่องเที่ยวไทยก็นิยมไปเที่ยวมาเลเซียมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 1.7 ล้านคน (ปี 2562) ตามด้วย ลาว ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ยังต้องใช้ท่าเรือมาเลเซียในการขนส่งสินค้า

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับมาเลเซียเริ่มเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 ที่เป็นวันเดียวกับที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ (1874-1957) เรียกวันนี้ว่า “วันชาติมาเลเซีย” หรือที่เรียกว่า “วันเมอเดคา วันอิสรภาพ” สิ่งที่เห็นได้เพื่อเป็นสัญลักษณ์อิสระภาพคือ “สนามฟุตบอลเมอเดคา” ที่เป็นหนึ่งในสนามเก่าแก่ของมาเลเซีย (สร้างปี 1957) ปัจจุบัน มีสนามบูกิต จาลิล  เป็นสนามฟุตบอลที่มีความจุมากที่สุดในอาเซียน มีความจุอยู่ที่ 87,411 ที่นั่ง  และ “จตุรัสเมอเดดา” เป็นที่ถูกเอาธงยูเนี่ยนแจ๊กลงและเอาธงชาติมาเลเซียขึ้นแทนของเที่ยงคืนของวันที่ 31 สิงหาคม 1957 (อินโดนีเซียมีจัตุรัสเมอเดคา เช่นกัน)

วันชาติมาเลเซีย (และวันเริ่มต้นสัมพันธ์ทางการฑูตกับไทย) ตรงกับสมัยนายกรัฐมตรีคนแรก “ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน” (ปัจจุบันมีเจ้าชายแห่งรัฐยะโฮร์ชื่อเดียวกัน อายุ 26 ปี) เกิดที่มณฑลไทรบุรี (รัฐเคดาห์) ประเทศสยาม เมื่อ 8 ก.พ. 2446 มีแม่เป็นคนไทยชื่อ “หม่อมเนื่อง นนทนาคร” มีภรรยาคนที่ 1 (มีภรรยาทั้งหมด 4 คน) เป็นคนไทยเชื้อสายจีน “ท่านผู้หญิงมาเรียม จง อับดุลลาห์” ลูกสาวนายหัวเหมืองดีบุกชาวไทย   เคยมาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ เมื่ออายุ 10 ขวบ “รวม 2 ปี” (สยามยกไทรบุรีให้อังกฤษไปแล้ว) ช่วงปีพ.ศ.2456-2458 ถูกขนานนามว่า “บิดาแห่งมาเลเซีย (Bapa of Malaysia)” เพราะเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ (ได้รับปริญญาบัณฑิตสาขาศิลปศาสตร์ ในปีค.ศ.1925 จาก ม.เคมบริดจ์ หลังจากกลับมาจากอังกฤษทำงานอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ได้เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายต่อ ที่ Inner Temple ที่ประเทศอังกฤษ)

 

 

เมื่อไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมาเลเซีย

ในขณะที่ “วันมาเลเซีย” เป็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 เพราะเป็นการรวมกลุ่มของประเทศมาลายา รัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และสิงคโปร์ (3 รัฐนี้มีอิสรภาพจากอังกฤษในวันดังกล่าว) หลังจากรวมประเทศได้ 2 ปี สิงคโปร์ก็ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องการแบ่งปันอำนาจ การแทรกแซงกิจการภายในรัฐของรัฐบาลมาเลเซีย รวมถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิงคโปร์ถูกขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียไปในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1965 สิงคโปร์จึงได้กำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันชาติ

 ช่วง 30 ปีแรกของความสัมพันธ์ของไทย-มาเลเซีย ช่วงนายกรัฐมนตรีระฮ์มัน (31 สิงหาคม 2500 - 22 ก.ย. 2013) ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีเพราะมีความสนิทสนมกับไทยเนื่องจากคุณแม่ ภรรยาเป็นคนไทยและมีนโยบายตรงกันเรื่อง “การต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น” ทำให้ “อาเซียน” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้เมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2510 ต่อมาในช่วงนายกฯ อับดุล ราซัก ฮุซเซน และฮุนเซน อนน์ และช่วงแรกของนายกฯ มหาเธ่ ความสัมพันธ์ไทยมาเลเซียไม่ดีเท่ากับช่วงนายกฯ ระฮ์มัน เพราะมีประเด็นพื้นที่ทับซ้อนและประมง

ทำให้ช่วงต้น ๆ ของนายกฯ มหาเธร์จึงพยายามหาทางออกร่วมกัน โดยการริเริ่มตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น คณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Commission : JC) 2530 เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) 2536  ความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าอุตสาหกรรมแห่งชาติมาเลเซีย 2541 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยางพารา 2542 ความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี 2543 คณะกรรมการร่วมการค้า (joint trade committee : JTC) ระดับทิวภาคี 2543  

นอกจากนี้มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำ Bilateral Payment Arrangement (Account Trade) 2544 สภาธุรกิจมาเลเซีย-ไทย (Malaysian-Thai Business Council : MTCC) 2545 บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า 2546  บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยกับมาเลเซีย 2546 บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการเคลื่อนย้านสินค้า 2546  และยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย (Thailand - Malaysia Committee on Joint Development Strategy for border areas : JDS) JDS 2547

มูลค่าการค้าชายแดนไทยกับมาเลเซียมีสัดส่วนมากสุด 32% ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม (ปี 2563) ตามด้วย สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา แต่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2558 – 2563) การค้าชายแดนไทยกับมาเลเซียมีสัดส่วนลดลง จากสัดส่วน 52 % เหลือ 32% (ไทยขาดดุลการค้ากับมาเลเซียช่วงปี 2525 เพราะมีการนำเข้าน้ำมัน ต่อมาไทยได้ดุลการค้า แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาไทยกลับไปขาดดุลการค้าอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันมาเลเซียเป็นประเทศที่ติดชายแดนเดียวที่ประเทศไทยขาดดุลการค้า) เพราะถูกแทนที่โดยการค้าชายแดนไทยกับเมียนมา ลาว และกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชา เหตุผลเพราะโครงสร้างการนำเข้าไปมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลง ปกติส่วนใหญ่นำเข้ายางพาราและคอมพิวเตอร์ แต่ช่วงหลังผลิตภัณฑ์ยางและถุงมือที่มีมูลค่าส่งออกลดลงอย่างมาก เพราะมาเลเซียหันไปผลิตสินค้า 2 ประเภทนี้ในประเทศตนเองมากขึ้น ส่วนยางพาราที่ส่งออกเป็นวัตถุดิบยางแทน โดยด่านสะเดา จ.สงขลามีสัดส่วนการค้ากับมาเลเซียสัดส่วนเกือบ 80% ตามด้วยด่านปาดังเบซาร์ 19%

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียนำเข้าจากไทยเป็น “อันดับที่ 8” โดยมีจีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ที่น่าสนใจคือมาเลเซียนำเข้าจากไทยลดลงจากระดับ “หมื่นล้านเหลือแปดพันล้านเหรียญ” และส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยลดลงจาก “6% เหลือ 4%” ประเทศจีน ไทเป เกาหลี อินเดียและเวียดนาม เป็น “ผู้แย่งส่วนแบ่งตลาดหลัก” สรุปได้ว่าทั้งระดับชายแดนและระดับชาติ “ไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมาเลเซีย” ต่อครั้งหน้าครับ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,673 หน้า 8 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564