โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย โอกาสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์ (2)

14 ต.ค. 2563 | 06:10 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำบางเวลาของวิทยาลัย วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,618 หน้า 5 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม 2563

 

จากตอนแรกเรื่องโควิด-19 ผลกระทบต่อประเด็นความท้า ทาย และโอกาสของการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงความสำคัญและความเปราะบางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ของประเทศ และการท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะทวีความสนใจมากขึ้นคือการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Development of Creative Tourism) ซึ่งเป็นชุดโครงการวิจัยภายใต้โครงการแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2” ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ทุนสนับสนุน 

 

โดยชุดโครงการมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมคือ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งการอยู่ร่วมกันที่เป็นสุข พื้นที่การทำวิจัยคือจังหวัดน่านและพื้นที่แถบอันดามัน ประกอบด้วยชุดโครงการทั้งหมด 13 โครงการ บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการทองเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์เท่านั้น 

 

ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย ทว่า GDP ต่อหัวในปี 2562 ค่อนข้างตํ่า ($7,841.9) (The Office of the Board of Investment, BOI) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยจัดว่ามี GDP ต่อหัวกลางๆ รองจากประเทศสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มสูงต่อการค้าโลกในภาคสินค้าและบริการ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ในการค้าโลกของไทยโดยผ่านการวิวัฒนาการระบบการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่สารสนเทศ และระบบการขนส่ง 

 

ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี พ.ศ. 2554 (Upper Middle Income) และระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการบริโภคและการส่งออกเป็นสำคัญ โดยมีสัดส่วนการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าร้อยละ 50 โดยในปี 2562 ภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นภาคหลักในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย โดยภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 31.81% ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 16.10% ของ GDP

 

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าหลายประเทศรวมทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยต่างให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับแต่ละประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ให้นิยามการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical & Health Tourism) ว่าเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยสดงดงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีจิตสำนึกต่อการส่งเสริมและรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

 

โดยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งออก 2 ประเภทคือ 1. การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Tourism) และ 2. การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Heath Healing Tourism/Medical Tourism)

 

โดยที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศสูงมาก แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพโดยมีชุมชนเป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์

 

 

โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย  โอกาสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์ (2)

 

 

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปจากเดิมสู่ ‘ชีวิตวิถีใหม่’ หรือ New Normal ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ได้ก่อให้เกิดนโยบาย ททท SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) หรือ พฤติกรรมการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด ที่มุ่งว่านักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญด้านสุขภาพ หรือเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการท่องเที่ยว กลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มที่เล็กลง ใช้ระยะเวลาสั้นลง ประหยัด การท่องเที่ยวแบบปลอดภัยและไม่เสี่ยงภัย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยตรง 

 

 

 

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีหลากหลาย หากเป็นรูปแบบชุมชนท่องเที่ยว มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น 

 

(1) กิจการผลิต ประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และ 2. เครื่องสำอาง  

 

(2) กิจการบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 1. ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ  2. บ้านพักผู้สูงอายุ 3. สปาและนวดแผนไทย 4. บริการพำนักระยะยาว 5. บริการเวชสำอาง 

 

(3) อุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 1. วิจัย พัฒนาและทดสอบทางวิทยาศาสตร์ 2. เภสัชกรรม 3. ระบบ การเดินทางและระบบการขนส่ง 

 

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อาศัยการท่องเที่ยวอย่างประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ไม่ได้มุ่งแต่เฉพาะมูลค่าในรูปเงินเท่านั้น แต่มุ่งที่คุณภาพชีวิต ความคิดสร้างสรรค์และสุขภาวะทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ ชุมชนและนักท่องเที่ยว ในด้านบวกน่าจะเป็นโอกาสของการมีกฎระเบียบมากขึ้น เสมือนการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นมาที่จังหวัดน่าน แต่จะทำอย่างไรให้เข้าถึงคนกลุ่มที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อ

 

นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่รัฐมี นโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากการระบาดของโควิด-19 มีแหล่งทุนที่รัฐจัดหาให้กับชุมชน เป็นการลงทุนที่มุ่งที่การจัดการของชุมชนเอง นับเป็นทั้งประเด็นที่ท้าทายและเป็นโอกาสของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์ 

 

ในส่วนของประเด็นความท้าทายอื่นเป็นประเด็นสะท้อนจากชุมชนพอสรุปได้ว่า กฎหมายทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้, สภาวะเงินฝืด นักท่องเที่ยว ใช้จ่ายแต่ของจำเป็น, คนไปมาหาสู่กันน้อยลง, ลูกหลานกลับคืนถิ่นกันมากขึ้น (เดิมมีนโยบายให้ลูกหลานคืนถิ่น แต่เหตุการณ์การระบาดโควิด ทำให้เห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกัน) และบริษัทปิดกิจการกระทบโดยตรงต่อชุมชน

 

แนวทางของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์ ประกอบด้วย การสร้างภูมิคุ้มกันโดยใช้สมุนไพรพื้นบ้านตั้งแต่เมนูอาหาร เครื่องดื่มและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและแบ่งปัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข การของบอุดหนุนเพื่อลงทุนโครงการพัฒนาชุมชนด้านสุขภาพ การค้นคว้าภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นไม้โบราณ พันธุ์พืช สถานที่ต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น 

 

 

 

ประเด็นด้านการจัดการนับเป็นประเด็นท้าทายทั้งในเชิงโครงสร้าง ภาระและหน้าที่ของชุมชนและสมาชิกในชุมชน ควรมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้คือ 

 

1. จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นที่สามารถสร้างมูลค่าได้ ปัญหาสุขภาพในชุมชน โดยให้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาและให้คนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวทางที่ระบบบริการสุขภาพมุ่งเน้นที่การบริการปฐมภูมิ ฐานข้อมูล เป็นหัวใจที่ใช้ในการขับเคลื่อนแต่ต้องขับเคลื่อนแบบมีทิศทาง มีเป้าหมาย 

 

2. การสร้างขีดความสามารถให้กับชุมชน โดยจะต้องออกแบบใหม่ไม่ใช่นโยบายจากบนลงล่าง มีการสร้าง Start up team และทีมที่ปรึกษา สร้างองค์ความรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันตามความต้องการของพื้นที่ เช่น new normal (นโยบายจากบนลงล่าง) คืออะไรในมิติชุมชน ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการปรับตัว 

 

3. ศึกษาประเด็นระบบบริการสุขภาพ การพัฒนา อย่างน้อยเป็นการพัฒนาการให้บริการพื้นฐาน ผนวกองค์ความรู้ชุมชนแบบผสมผสาน 

 

4. ศึกษาความยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ก็สามารถผนวกเข้ากับประเด็นนี้ได้ 

 

5. ศึกษาด้านบวกจากการระบาดโควิด และขยายความร่วมมือ การสนับสนุนทั้งภายนอกและภายในชุมชนเอง เช่น สุขอนามัย บริการที่ได้มาตรฐาน ความปลอดภัยด้าน สุขภาพทั้งผู้ให้ ผู้รับบริการ เป็นต้น 

 

6. ศึกษาศักยภาพในการขยายเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ

 

7. วิจัยให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ ขยายตลาดด้านโซเชียล เน็ทเวิร์ค

 

และ 8. ศึกษาว่าอะไรคือ core value ของชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์นั้นต้องอาศัยความพร้อม ความเข้าใจ ความร่วมมือของชุมชนประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดคุณค่า มูลค่า และยั่งยืน