มีมั้ย สัญญาผิดกฎหมาย แต่ได้เงินรัฐ1.6 พันล้าน...

16 มิ.ย. 2563 | 13:30 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3584 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 18-20 มิ.ย.63 โดย... พรานบุญ

มีมั้ย! สัญญาผิดกฎหมาย

แต่ได้เงินรัฐ1.6 พันล้าน...

 

          ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในเมืองไทยขณะนี้ ไม่มีประเด็นใดร้อนแรงเท่า “การทำความดี” ของคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) MCOT รัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี “เทวัญ ลิปตพัลลภ” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล ตัดสินใจสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้จ่ายเงินค่าเวนคืนคลื่นความถี่ 2500-2600 MHz แก่บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ครึ่งหนึ่งของเงินเวนคืนคลื่นทั้งหมดที่ได้รับ 3,235 ล้านบาทเศษ

          อีเห็นบอกว่าเรื่องแบบนี้ นานๆ ที สังคมไทยจะเห็นการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างมีศิลปะแบบ “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” เหมือนการจัด “ตู้ปันสุข” ไว้เยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ คนที่มีมากกว่าแบ่งปันคนที่ด้อยกว่า

          การทำความดี ของบริษัท อสมท ที่ยอมแบ่งปันเงินเวนคืนคลื่นความถี่กว่า 1,617 ล้านบาท ให้กับคู่สัญญาคือ บริษัท เพลย์เวิร์ค ที่มี ภาวิช ทองโรจน์ เป็นกรรมการบริหาร และรับผิดชอบด้านการตลาดในการให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS มาตั้งแต่ปี 2553 แต่กว่าจะมาทำได้จริงตกปี 2561-2562 กลายเป็นเรื่องที่สังคมคลางแคลงใจอย่างยิ่ง

          คลางแคลงใจ เพราะสังคมไทยไม่เคยพบ ไม่เคยเจอ มหาเศรษฐี อสมท ผู้ตกอับ ทำธุรกิจขาดทุนมา 3 ปีซ้อน จนยอดขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นร่วม 1,700 ล้านบาท แต่กลับใจบุญสุนทานยอมแบ่งเงินก้อนโตกว่า 1,617 ล้านบาท ให้กับคู่สัญญา ที่ลงนามกันไว้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงมากว่า 10 ปี เพราะสัญญาที่ทำไว้ผิดกฎหมาย!

          ผิดกฎหมาย ผิดเงื่อนไขแบบนี้ แล้วทำไมหน่วยงานรัฐแห่งนี้จึงใจบุญมากขนาดนี้ รึว่ามีอะไรในกอไผ่?

          นังบ่างผู้ซาบซึ้งในรสพระธรรมจึงเสนอแนะว่า เหตุปัจจะโย  คือ ธรรมที่มีเหตุเป็นปัจจัยแบบนี้ อารัมมะณะปัจจะโย คือ ธรรมที่มีอารมณ์เป็นปัจจัย ในแบบที่ว่า...ถ้าสัญญาที่ทำไว้ผิดกฎหมาย ผิดเงื่อนไขจริงควรจะได้รับสิทธิเงินเวนคืนก้อนโต 1,617 ล้านบาท หรือไม่ ควรต้องคลี่ออกมาดู!

          พ่อพรานที่เชี่ยวชาญพงไพร จึงต้องตามไปขุดเรื่องสัญญาระหว่าง “อสมท-เพลย์เวิร์ค” มาดูจึงรู้ในเรื่องที่ไม่ควรรู้ดังนี้...

          11 ก.พ. 2557 ข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ พาดหัวข่าวว่า “บอร์ด กสท.รุกคืบจัดระเบียบวิทยุดิจิตอล ชี้สัญญา "อสมท-เพลย์เวิร์ค" ขัดกฎหมาย”  

          เนื้อข่าวระบุว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติว่าการทำสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เพื่อให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงแจ้งให้ อสมท ปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง และคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ปัจจุบันคลื่นดังกล่าว มีการใช้งานกับสัญญา บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด และจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2557 

          พ.อ.นที บอกว่า ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ อสมท ปล่อยให้บริษัท เพลย์เวิร์ค ไปให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) จึงถือเป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่น แทนที่จะให้บริการบนระบบ MMDS เนื่องจากคลื่น 2500-2690 MHz ตามตารางคลื่นความถี่แห่งชาติกำหนดให้เป็นคลื่นที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม จึงไม่สามารถอนุญาตให้ได้เพราะไม่ใช่คลื่นในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น

          กสทช.จึงสั่งการให้ อสมท ไปดำเนินการแก้ไขการใช้งานให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในทันที ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 การทำตลาด และการลงทุนอุปกรณ์ทำไม่ได้…แปลว่าสัญญานั้นไร้ผลทางปฏิบัติ..ปกติต้องยุติ หรือต้องทำสัญญาใหม่

          19 มกราคม 2559 ทางผู้บริหาร บริษัท อสมท ออกมาแถลงข่าวว่า ได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาทางธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS ที่ทำไว้กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัดแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวจะมีอายุ 15 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการ

          18 มิถุนายน 2561 เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท แถลงข่าวการร่วมเป็นพันธมิตรกับค่ายมือถือเพื่อเช่าโครงข่ายสัญญาณคลื่นความถี่ 2600MHz โดยมีบริษัทเพลย์เวิร์ค เป็นผู้ทำการตลาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

          เขมทัตต์บอกว่า จะนำร่องทดลองช่วง 6 เดือนแรก ใน 30 จุดทั่วกรุงเทพฯ ในปีนี้ หลังจากนั้น จะทำการวัดจำนวนผู้ชมและการเข้าถึง ก่อนจะขยายการรับชมเพิ่มเติม โดยทางผู้ผลิตคอนเทนต์มีการันตีรายได้ในช่วงปีแรก หลังทดลองออกอากาศ 6 เดือน ว่า บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz จะสามารถสร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท ในปีแรก และจะเป็นการเสริมแกร่งให้กับธุรกิจเดิมของ อสมท สู่ความเป็นคอนเวอร์เจนที่จะมีการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ในอนาคต

          แสดงว่า ตลอดสัญญาที่ทำไว้กับทางเพลย์เวิร์ค ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2559 ไม่มีการลงทุน เพราะผิดเงื่อนไข ผิดกฎหมายจริง!

          ในคำแถลงการณ์ตอบโต้สหภาพฯ อสมท ตอนหนึ่งของ เขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็ระบุว่า..” อสมท ได้นำคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานดังกล่าว ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกร่วมกับบริษัทเอกชน โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดฝ่ายเดียว อสมท ไม่ต้องลงทุนออกค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แต่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่แน่นอนตลอดระยะเวลาอายุสัญญา ไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงจากการขาดทุนใดๆทั้งสิ้น เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดฝ่ายเดียว โดยได้ทำสัญญาร่วมดำเนินงานกับเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553

          แต่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาร่วมดำเนินงานแล้ว อสมท ไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้ อันเนื่องมาจากเมื่อมีกฎหมายจัดตั้ง กสทช. ขึ้นภายหลังในปี พ.ศ. 2554 และ กสทช. ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิม ผลจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและอำนาจในการกำกับดูแล ทำให้เกิดข้อขัดข้องหลายครั้ง ในการขออนุญาต กสทช.

          ท้ายที่สุดจึงได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้สามารถเปิดให้บริการโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิกได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ทำให้การดำเนินธุรกิจของ อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา ต้องล่าช้าไปมาก สร้างความเสียหายแก่ สมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญาเป็นจำนวนมาก ทั้งมูลค่าเงินที่สูญเปล่าไปในการลงทุนและมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจจากความล่าช้า

          แสดงว่า การทำสัญญากับเอกชนในเรื่องการให้บริการโทรทัศน์บรอดแบนด์ของ อสมท-เพลย์เวิร์ค เพิ่งเริ่มต้นจริงปี 2561-2562 แต่อสมท.เจ้าของกรรมสิทธิ์คลื่นกลับยอมมอบเงินเวนคืนให้แก่ เพลย์เวิร์ค ครึ่งหนึ่งคือ 1,617 ล้านบาท

          ใครทำเงินได้มากกว่านี้!

          อกพ่อพรานจะแตก เมื่อนึกถึงข้อทักท้วงของ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.ที่เคยทักท้วงไว้ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เมื่อมีวาระการประชุม ครั้งที่ 5/2559 เรื่อง การขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ MMDS ของบริษัท อสมท เธอบอกว่า ถ้ากรรมการตัดสินให้ อสมท มีสิทธิถือครองคลื่นอยู่อาจจะส่งผลต่อสิทธิและความจำเป็นอื่นๆ อีกก็ได้ ถ้าเราให้สิทธิของ อสมท ในการประกอบกิจการต่อได้เป็น BWA จะมีประเด็นทั้งเรื่องของกฎหมายและอาจกระทบการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะเป็นการสนับสนุนเอกชนรายหนึ่งเข้าสู่ตลาด โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต หรือขอประมูล และวันหนึ่งจะเป็นปัญหา

          มาบัดนี้ เพลย์เวิร์ค ได้รับสิ่งเหล่านั้นแล้วครับ

          ใครอยู่เบื้องหลัง พรานไม่รู้ รู้แต่ว่า อสมท ทำสัญญาแบบผิดกฎหมายกับเอกชน  แทนที่จะโมฆะ หรือสัญญานั้นหมดสภาพไป กลับมีการแก้ไขให้ เมื่อปี 2559 และประกาศลงทุนทำการตลาดในปี 2561 ปี 2562 ก็รับทรัพย์ก้อนโต 1,600 ล้านบาท จากเจ้าของกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ สบายอุรา...เฉิบๆ

          ใครจะมาขอแบ่งเงิน “ตู้ปันสุข 1,617 ล้านบาท” เชิญ!