ผู้นำ ไทยแทฟฟิตา แค่เปลี่ยนมุมคิด สร้างธุรกิจรุ่ง รายได้โตสวนกระแส

02 มี.ค. 2567 | 02:40 น.

"คอลัมน์ซีอีโอ โฟกัส" ผู้นำ “ไทยแทฟฟิตา” “สุพจน์ ชัยวิไล” แค่เปลี่ยนมุมคิด สร้างธุรกิจรุ่ง รายได้โตสวนกระแส ชี้ความยั่งยืน (Sustainability) เครื่องมือตัวสำคัญ ผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมาฟื้นคืนชีพ

ในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ (TEXTILE) ที่ถูกมองเป็นธุรกิจขาลงมายาวนาน ในวันนี้ ความยั่งยืน (Sustainability) กลับกลายเป็นเครื่องมือตัวสำคัญ ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมาฟื้นคืนชีพ หากเจ้าของธุรกิจรู้จักที่จะ “ปรับมุมคิด และเพิ่มนวัตกรรม”

 เรื่องนี้ “สุพจน์ ชัยวิไล” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิตา จำกัด บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอครบวงจร ได้เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ ในงาน “RECO Collective Launch Event” กับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น ภายใต้โครงการประกวด “RECO Young Designer Competition” ที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของวัสดุรีไซเคิลควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งอินโดรามาฯ ทำต่อเนื่ืองมาถึงปีที่ 10

 “สุพจน์” เล่าในฐานะหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของโครงการฯ ได้กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจแฟชั่นที่นำวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสรรค์ ว่าเติบโตมากถึง 300-400% แบรนด์ชั้นนำระดับโลกแทบทุกแบรนด์ให้ความสนใจเรื่ืองนี้ และการใช้วัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าแฟชั่น กลายเป็นมาตรฐานสากลที่ใครๆ ก็ทำ ซึ่งปัจจุบันคอตตอนกับโพลีเอสเตอร์แทบไม่มีความแตกต่างกันแล้ว

สุพจน์ ชัยวิไล

“ยุคนี้แบรนด์สำคัญน้อยลง เพราะคนมาให้ความสนใจกับความยั่งยืนมากกว่า” นั่นคือสิ่งที่ “สุพจน์” ยืนยัน เพราะในฐานะผู้ผลิตเส้นใยสิ่งทอครบวงจรมาต่อเนื่ืองกว่า 37 ปี โดยรับ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือการรับจ้างผลิตเกือบ 100% จากลูกค้าทั้งจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา พบว่า แบรนด์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของ “รีไซเคิล”นั้นมีมากกว่า 15 ปี และหากซัพพลายเออร์ไหนไม่สามารถสนองตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เขาก็ไม่ร่วมงานด้วย ตอนนี้ ไนกี้ อาดิดาส THE NORTH FACE เขารีไซเคิลหมดแล้ว แต่เขาไม่โฆษณา เพราะมันเชยแล้ว และมันคือมาตรฐานที่ทุกคนต้องทำ เพราะฉะนั้นเขาจะเลือกซัพพลายเชน ที่สามารถนอกจากจัดหาผ้าที่มาจากวัสดุรีไซเคิลให้เขาได้แล้ว ยังสามารถปรับแก้กระบวนการผลิตให้ลดคาร์บอนได้ ไม่ว่าจะเป็นการทอ การใช้สี ขั้นตอนต่างๆ ต้องไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ขณะที่ได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น”

วัตถุดิบที่ซัพพลายเออร์อย่าง ไทยแทฟฟิตาเลือกใช้ ต้องได้ตามมาตรฐาน GRS (Global Recycled Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานการติดตามและทวนสอบปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่มีในผลิตภัณฑ์ GRS ครอบคลุมวัตถุดิบที่มาจากรีไซเคิลอย่างน้อย 20-100% โดยเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิต บรรจุภัณฑ์ การติดฉลากสินค้า การซื้อมาขายไปการจัดจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งในเมืองไทยขณะนี้ มีแค่ อินโดรามา เวนเจอร์ส เท่านั้น

 สำหรับ ไทยแทฟฟิตา “สุพจน์” เล่าว่า ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและอื่นๆ มาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว และทำต่อเนื่ืองมาเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงนั้น มองว่ามันคือภาระที่แบรนด์บีบให้ทำ แต่ช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา ทางไทยแทฟฟิตา ได้เปลี่ยนมุมคิด มองว่า เรื่องความยั่งยืน และคาร์บอนไม่ใช่ภาระ แต่มันคือสิ่งที่สามารถนำมาสร้างเป็นจุดขายให้กับไทยแทฟฟิตาได้ เพราะฉะนั้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไทยแทฟฟิตาจึงพัฒนาตัวเองด้วยนวัตกรรมที่น่าสนใจ

ล่าสุด ได้ร่วมมือกับพันธมิตรนำ Agricultural Waste ซึ่งมีข้อดีคือคาร์บอนติดลบ เข้ามาใช้ในการพัฒนาสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็น สัปปะรด หรือ กัญชง (กัญชง ช่วงหลังหยุดไป เนื่องจากนโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน) และยังร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) วัดคาร์บอนฟุตพริ้นในโรงงาน และปีหน้าจะทำเรื่อง Carbon Reduction กระบวนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

  “ความท้าทายของเราคือเรื่อง ต้นทุน แต่เรื่องที่สำคัญคือ ทัศนคติ ช่วงห้าปีหลัง ผมเปลี่ยน Mindset คิดว่าการเปลี่ยนตรงนี้คือจุดขาย แล้วเราเอามาสร้างเป็นมาร์เก็ตติ้ง ตอนนี้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่น เพราะเราพัฒนามาต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมาทุกคนลำบาก ผมเป็นเจ้าเดียวที่ยอดขายไม่ตก แล้วยังเพิ่มขึ้น 10-15% ทุกปี เพราะเราคิดว่า ความยั่งยืน และการลดคาร์บอน ไม่ใช่ภาระ”

 แน่นอนว่า การทำเรื่องความยั่งยืน มีต้นทุน แต่สำหรับ ไทยแทฟฟิตา เริ่มต้นมานาน และทยอยปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตามมาตรฐาน ตามกำลังความเหมาะสม ที่ไม่ทำให้ตัวเองลำบาก ช่วงแรกๆ ยอดขายกับเงินลงทุนอาจจะใกล้เคียงกัน แต่ในปัจจุบัน กำไรเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้บริษัทฯ จะยังลงทุนต่อเนื่ืองเพิ่มขึ้น 10-15% ทุกปี เพราะต้องพัฒนาตัวเองต่อเนื่อง

  “สุพจน์” ยังบอกอีกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง แม้ตอนนี้จะไม่ดี เพราะขาดกำลังซื้อ แต่เมื่อกำลังซื้อกลับมา จะเห็นว่า สิ่งทอมันขาดไปเยอะ ต่อไปใครจะอยู่รอด ต้องปรับตัวไปสู่เรื่องของความยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะลูกค้าจะถามหา เพราะฉะนั้น นอกจากราคา ดีไซน์ คุณภาพ ก็ต้องทำเรื่องของความยั่งยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน อุตสาหกรรมนี้จึงจะอยู่รอดได้

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,970 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2567