เปิดวิชั่น“ชูรัชฎ์ ชาครกุล” “ลลิล”แก้เอฟเฟคหนี้ครัวเรือน

30 ส.ค. 2566 | 04:43 น.

เปิดวิชั่น“ชูรัชฎ์ ชาครกุล” “ลลิล”แก้เอฟเฟคหนี้ครัวเรือน ตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากความสามารถในการซื้อและกู้สินเชื่อลดลงกระทบต่อยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ของผู้ประกอบการชี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ด้วยการสร้างรายได้

 

 

 

ครึ่งปีหลังปี2566 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขยับลงทุนต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านแม้วันนี้ได้ตัวนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ “หนี้ครัวเรือน” ตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากความสามารถในการซื้อและกู้สินเชื่อลดลงกระทบต่อยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ของผู้ประกอบการ ขณะตามข้อเท็จจริงความต้องการบ้านแนวราบยังมีต่อเนื่อง  เมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียม แต่เมื่อ ตรวจสอบความสามารถในการผ่อนชำระแล้วเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่สถาบันการเงินจะปล่อยผ่านหรือปฏิเสธสินเชื่อกลับมา

ทางออกผู้ประกอบการแต่ละค่าย ต่างทำหน้าที่เสมือนสถาบันการเงิน คอยคัดกรองและเป็นที่ปรึกษาหาทางออกให้กับผู้ซื้อ ลดภาระหนี้ หรือปลดล็อคเครดิตบูโร เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับ “ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” บริษัทอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทย   ที่เน้นพัฒนาโครงการแนวราบสร้างเสร็จพร้อมอยู่  เพื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจ และขยายฐานเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนจากการเช่าและคอนโดมิเนียมมา มาซื้อบ้านแนวราบมากขึ้น

เอฟเฟค หนี้ครัวเรือน

  ในโอกาสครบรอบ 37 ปี และก้าวสู่ปีที่ 38 ไปสู่การเติบโต นายชูรัชฎ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ ว่า ปีนี้เป็นอีกปีที่มีโจทย์ค่อนข้างท้าทายเดิม มองว่ามี ปัจจัยต่างๆฟื้นเร็วแต่ในภาพของความเป็นจริง ยังหนักหนาสาหัสอยู่ เห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือน เป็นตัวเลขที่น่ากังวลที่ 90% คงเป็น ตัวเลขที่สูงในรอบกว่า 10 ปีของประเทศไทยเป็นช่องว่างห่างไกลของกำลังซื้อพอสมควร

“จริงๆ ปีนี้เราน่าจะบวกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแต่ผ่านมาครึ่งปีตัวเลขตกแผนไปพอสมควรคิดว่าในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ถ้าพูดจริงๆ ทรงๆ ปรับลดเล็กน้อยแต่เจอหนี้ครัวเรือนกับสถาบันเข้มงวดทำให้เอฟเฟคค่อนข้างมาก อย่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเผชิญกับโควิดซึ่งโควิดช่วงนั้นหนี้ครัวเรือนยังอยู่ที่ 82-83% ยังไม่เอฟเฟคกับการกู้เท่าไหร่ ปีนี้หนี้ครัวเรือน 90% ชัดเจนว่าการบริโภคชะลอและเป็นปีที่เหนื่อย”

 ตั้งไฟแนนซ์คลีนิค

 เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้   นายชูรัชฎ์ มองว่าลลิลยังต้องลุยมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้บ้าน และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ปัจจุบันบริษัท ทำไฟแนนซ์เซียลคลีนิคโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้หนี้ให้ลูกค้าก่อนจะกู้กับสถาบันการเงินจริงเพื่อพิจารณาผ่านโดยง่าย แต่ละกรณี จะมีปัญหาต่างกัน บางรายมีหนี้มากอาจใช้เวลาไม่นาน บางรายอาจใช้เวลานานแต่เขายังต้องการบ้านของลลิล ซึ่งบริษัทได้พัฒนาบุคลากรสร้างทีมงานให้ทำหน้าที่ได้เสมือนคนของสถาบันการเงินช่วยลูกค้าได้บ้านตามข้อเท็จจริงลูกค้าอยาก ได้บ้านแต่ที่ผ่านมามักสร้างหนี้ เช่นกู้ซื้อรถไปก่อนหน้านี้ 

ดังนั้น ลลิลมีทีมช่วยแก้ให้ลูกค้า แต่เมื่อแก้แล้วต้องใช้เวลาเพื่อรอเวลายื่นขอสินเชื่อเช่น 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปีเป็นต้น  กลุ่มเหล่านี้จะจัดไปอยู่ โซนโครงการในกลุ่มผ่อนดาวน์ให้แมชชิ่งกัน โดยกลุ่มที่ทีมงานช่วยแก้หนี้ให้แล้ว กลุ่มเหล่านี้จะกลับมาซื้อบ้านของลลิลได้ เช่น ไตรมาสที่ 4 แต่อาจจะบางส่วนแล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นด่านแรกด้วยการทำให้เกิดการสร้างงานโดยกลไลของรัฐ

ชูรัชฎ์ ชาครกุล

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ ผ่อนดาวน์ เนื่องจาก ภาระหนี้ปัจจุบันเขาไม่สามารถอยู่ได้ทันที บริษัทต้องช่วยลูกค้าผ่อนดาวน์ไปบางส่วนปกติ จะเน้นขายบ้านพร้อมอยู่เต็มที่ให้โอกาส 1 เดือน  วางดาวน์และโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างใกล้เสร็จ

  “ปัญหาเครดิตรบูโร จะมีรหัสถ้าขึ้นเลข 4 จะอยู่ในข่ายที่หนัก ต้องแก้ไปตามอาการเมื่อเป็นที่ปรึกษาให้เขาแล้วเขาก็ยังคงต้องการบ้านของเราอยู่เงินดาวน์ก็ยังอยู่กับเราซึ่งลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อได้แก้หนี้ให้ คือเป็นที่ปรึกษาให้เขาส่วนที่เราแก้ปัญหาให้ก็จะกลับมาทยอยรับรู้รายได้ในภายหลัง”

  ขณะเดียวกันปีนี้ธุรกิจอสังหาฯ ได้รับผลกระทบ 2 เด้งนอกจากสถาบันการเงินเข้มงวดแล้ว  ดอกเบี้ยภายใน 2 ปี ปรับขึ้น 7 ครั้ง เอฟเฟคกำลังซื้อพอสมควรจากเดิมรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน สามารถซื้อได้ แต่วันนี้ต้องมีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

 

ประเมินครึ่งปีหลัง

   ช่วงครึ่งปีหลัง มีแผนเปิดอีก 6 โครงการแต่เป็นลักษณะ ค่อยเป็นค่อนไป  หลังจากครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 4 โครงการซึ่งเป็นแนวราบทั้งหมด รวมปี2566 อยู่ที่กว่า 8,000 ล้านบาท การเปิดโครงการจะระมัดระวังตรวจสอบสต็อกบ้านที่สร้างให้สัมพันธ์กับกำลังซื้อ 

 ครึ่งปีหลังมองว่าดีกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยบวก  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณ ไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยมาก วัสดุก่อสร้างราคาเริ่มนิ่ง นํ้ามันเริ่มทรงตัว  มองว่าไตรมาส 4 น่าจะเริ่มฟื้นตัวเพราะไม่มีเอฟเฟคอะไรมากระทบมาก รวมถึงรัฐบาล ขับเคลื่อนประเทศและเชื่อว่าอาจจะออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯสนับสนุนเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปส่วน อสังหาฯยักษ์ใหญ่ของจีนล้มละลาย 2 ราย อาจเป็นมิโนกระทบไทยโดยเฉพาะ ตลาดคอนโดมิเนียมเพราะกำลังซื้อจีนหายไป

 ผลประกอบการ

   ผลการดำเนินงานที่ผ่านมายอมรับว่า อาจตํ่ากว่าเป้าแต่มองว่า เน้นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีลูกค้าในมือจริงๆ โดยทำเลที่เน้นในขณะนี้จะเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑลมองว่าเป็นทำเลที่กำลังซื้อมากกว่าโดยเน้นกระกระจายในทำเลศักยภาพ ซึ่งเป็นบ้านแนวราบทั้งหมด อาทิ ทาวน์เฮ้าส์ 2-3 ล้านบาทต่อหน่วย บ้านเดียว 4-7 ล้านบาทต่อหน่วยเป็นต้นส่วนกลุ่มบ้านราคาแพงที่ดีเวลลอปเปอร์ให้ความสนใจลงทุนมองว่าเป็นตลาดที่แคบและไม่ลงไปในตลาดกลุ่มนี้ 

 ขณะรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ครึ่งปีแรก ลลิลได้เกือบ 2,500 ล้านบาทตํ่ากว่าที่คาดไว้ ครึ่งปีหลังประเมินว่าจะมีรายได้เข้ามามากกว่าเพราะท่องเที่ยวจะเข้ามามากขึ้น ยังสู้อยู่เหลือเวลาที่เหลือ 4 เดือนเศษส่วน ยอดรอโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายใน 3 เดือนเพราะลลิล สร้างโครงการไม่เกิน 3 เดือน

นี่คือกลยุทธ์เชิงรุกของบิ๊กอสังหาฯเก๋าเกมในอตุสาหกรรม อย่าง “ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ” ที่กำลังก้าวไปสู่ปีที่ 38 อย่างมันคงยั่งยืน !!!