ส่องโครงการ "ชดเชยดอกเบี้ย 4% ให้โรงสี" รับซื้อข้าวชาวนาเก็บสต๊อกปี 66/67

02 ธ.ค. 2566 | 07:04 น.

ส่องรายละเอียดโครงการชดเชยดอกเบี้ย 4% ให้โรงสี หรือ ผู้ประกอบการค้าข้าว เพื่อรับซื้อข้าวชาวนาเก็บสต๊อกปีการผลิต 66/67 หลังครม.เมื่อ 28 พ.ย. 66 อนุมัติกรอบวงเงิน 780 ล้านบาท

โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 66/67 หรือ เรียกสั้นๆว่า "โครงการชดเชยดอกเบี้ย 4% ให้โรงสี รับซื้อข้าวชาวนาเก็บสต๊อก"

มีความคืบหน้าล่าสุด หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 28 พ.ย. 66 อนุมัติกรอบวงเงิน 780 ล้านบาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยฯ ในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 66/67 ในช่วงที่ข้าวจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ทำให้ต้องเร่งจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด 

ส่องโครงการ \"ชดเชยดอกเบี้ย 4% ให้โรงสี\" รับซื้อข้าวชาวนาเก็บสต๊อกปี 66/67

ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ระบุว่า โครงการดังกล่าว มีส่วนช่วยรับซื้อข้าว จากเกษตรกร ทำให้ข้าวไม่ล้นตลาด โดยช่วยชดเชยดอกเบี้ย 4% โดยให้ คชก. จ่ายเงินชดเชยไปก่อน งบประมาณ 780 ล้านบาท 

"ฐานเศรษฐกิจ" เจาะลึกรายละเอียดของโครงการดังกล่าวฯ ที่มีการเสนอต่อที่ประชุมครม. ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 66 ได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ ภายในกรอบวงเงินงบฯ 780 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของโครงการฯ ที่มีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก สรุปได้ดังนี้

 

หลักการและเหตุผล

ข้าวจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงต้นฤดู ส่งผลให้โรงสีและตลาดกลางมีความจำเป็นต้องเร่งจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด 

ดังนั้น โครงการฯ จะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยการเก็บรักษาสต๊อกไว้และชดเชยค่าเสียโอกาสในการเก็บรักษาข้าว ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

วัตถุประสงค์โครงการฯ

  1. เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวในช่วงต้นฤดูได้เพิ่มขึ้นในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และผู้ประกอบการค้าข้าวสามารถรับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมากโดยไม่ต้องเร่งระบาย รวมทั้งเป็นการดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เพื่อทำให้ราคาตลาดข้าวภายในประเทศมีเสียรภาพ
  2. เพื่อส่งเสริมสินเชื่อทุกประเภทที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บสต๊อกให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โดยไม่แทรกแซงตลดให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี

 
กลุ่มเป้าหมาย

  • ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะเก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร โดยมีเป้าหมายเป็นขาวเปลือและข้าวสาร 4 ล้านตัน ในระยะเวลา 2-6 เดือน

 
วิธีการดำเนินโครงการ

  • รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อกไว้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และตามระยะที่เก็บสต๊อกไว้ 60-180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ ดังนี้

 
1.การรับซื้อข้าวเปลือก

  • ผู้ประอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องนำเงินกู้ในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (ยกเว้น ธ.ก.ส. เป็นสัญญาเงินกู้) จากธนาคารไปดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร โดยทางตรงและทางอ้อม

 

2.การเก็บสต๊อก

  • เก็บสต๊อกข้าวและข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรในรูปข้าวเปลือก หรือสีแปรสภาพเป็นข้าวสารตามปริมาณและมูลค่าที่ได้รับจัดสรร

 

การยื่นขอชดเชยดอกเบี้ย

  • เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสัญญากู้ยืมเงินครบกำหนดชำระให้ธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐรับรองการกู้เงินและดอกเบี้ยที่จะได้รับการชดเชย โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำหลักฐานดังกล่าวยื่นการขอรับชดเชยดอกเบี้ยต่อคณะอนุกรรมการจังหวัดตามขั้นตอนต่อไป

 
กรอบเงินงบฯ – กรอบวงเงิน 780 ล้านบาท
 
ค่าชดเชยดอกเบี้ย

  • (1) ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 440 ล้านบาท (ปริมาณ 2 ล้านตัน x 11,000 (ราคาต่อ 1 ตัน) x 4% x 6 เดือน)
  • (2) ข้าวเจ้า 340 ล้านบาท (ปริมาณ 2 ล้านตัน x 8,500 (ราคาต่อ 1 ตัน) x 4% x 6 เดือน)
  • ค่าชดเชยดอกเบี้ยสามารถถัวจ่ายระหว่างรายการได้

 
แหล่งเงิน

  • ใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเษตรกรในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอให้กรมการค้าภายในเสนอขอรับการจัดสรรงบฯ ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

 
ระยะเวลาดำเนินการ

ตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 ต.ค. 68 ดังนี้

ทั่วประเทศ (ยกเว้นภาคใต้)

  • การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต๊อกตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 มี.ค. 67
  • ระยะเวลาการเก็บสต๊อกข้าวตั้งแต่ ครม. มีมติ – 31 ธ.ค. 67

ภาคใต้

  • การรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต๊อก 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 67
  • ระยะเวลาการเก็บสต๊อกข้าว 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 68

 
 
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

 

  1. ผู้ประกอบการค้าข้าวมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยไม่เร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาด
  2. สามารถดึงปริมาณข้าวส่วนเกินออกจากระบบตลาดได้นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้านอื่นๆ
  3. ราคาข้าวเปลือกในระบบตลาดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

 
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล