เจาะลึก "งบฯกระทรวงเกษตรปี 67" โดนหั่นยับ 9.5 พันล้านบาท?

24 พ.ย. 2566 | 02:05 น.

เปิดรายละเอียด ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ของ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" เป็นกระทรวงเดียวที่โดนตัดงบในการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ จะพาไปดูกันว่าหน่วยงานไหนใน 17 หน่วยงานที่โดนตัดงบมากสุดและได้รับงบเพิ่มมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ฐานเศรษฐกิจ เจาะลึกรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 ตามที่ สำนักงบประมาณ เสนอเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

โดยร่างพ.ร.บ.งบฯ 2567 มีกรอบวงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 2.95 แสนล้านบาท มีงบกลาง 6.03 แสนล้านบาท

ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท ได้รับการจัดสรรงบน้อยที่สุด คือ กระทรวงพลังงาน 2.83 พันล้านบาท

กระทรวงที่ได้งบเพิ่มมากที่สุด ได้แก่ กระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้น 4.2 หมื่นล้านบาท

แต่ทว่ากระทรวงที่โดนตัดงบมากที่สุดนั้น มีเพียง "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" เป็นกระทรวงเดียวเท่านั้นที่ถูกตัดงบปี 67 เมื่อเทียบกับปี 66 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • ปี 2566 จำนวน 1.28 แสนล้านบาท
  • ปี 2567 จำนวน 1.18 แสนล้านบาท
  • ลดลงจำนวน 9.53 พันล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจ เจาะลึกรายละเอียดงบประมาณ 2567 โฟกัสที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า กระทรวงนี้มีหน่วยรับงบประมาณ 17 หน่วยงาน
 

กรมการข้าวโดนตัดงบเยอะที่สุด

ข้อมูลระบุว่า หน่วยงานที่โดนตัดงบประมาณมากที่สุดคือ กรมการข้าว เดิมปี 2566 ได้รับงบ 1.96 หมื่นล้านบาท แต่ทว่าปี 2567 ได้รับงบ 4.44 พันล้านบาท เท่ากับว่าโดนตัดงบไป 1.51 หมื่นล้านบาท 

เมื่อลงลึกในรายละเอียดของกรมการข้าวที่ถูกหั่นงบครั้งนี้ พบว่ามีอยู่ 3 ส่วน คือ

  1. แผนงานบุคลากรภาครัฐ ถูกตัดไป 17.7 ล้านบาท
  2. แผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า ถูกตัดไป 15,178 ล้านบาท จากเดิมปี 66 เคยได้ 18,777 ล้านบาท ปี 67 จึงเหลือ 3,598 ล้านบาท
  3. แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดนตัดไป 8.4 แสนบาท

นอกจากกรมการข้าวแล้ว ยังมีอีก 2 หน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณ ได้แก่

  1. กรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อปี 66 ได้รับงบ 2,584 ล้านบาท แต่ปี 67 ได้รับงบ 2,558 ล้านบาท เท่ากับว่า โดนตัดไป 25.9 ล้านบาท
  2. สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์การมหาชน) เมื่อปี 66 ได้รับงบ 193 ล้านบาท แต่ปี 67 ได้รับงบ 166 ล้านบาท เท่ากับว่าถูกลดงบประมาณกว่า 26 ล้านบาท

 

กรมชลประทานได้งบเพิ่มมากที่สุด

ขณะที่ภาพรวมงบประมาณ หน่วยงานอื่นๆในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯนั้น ส่วนใหญ่ได้รับงบเพิ่มขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ กรมชลประทาน ได้งบเพิ่ม 3,643 ล้านบาท 

แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดงบ 67 ของกรมชลประทาน พบว่ามีทั้งส่วนที่ได้รับงบเพิ่มและถูกปรับลดงบ ดังนี้

  • แผนงานบุคลากรภาครัฐ ลดลง 167ล้านบาท
  • แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้น 18 ล้านบาท
  • แผนงานยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพิ่มขึ้น 4,414 ล้านบาท
  • แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลดลง 621 ล้านบาท

 

สรุปการจัดสรรงบปี 67 กระทรวงเกษตร

ภาพรวมของ 17 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากเรียงลำดับข้อมูลตามร่างพ.ร.บ. ณ ขณะนี้ จากหน่วยงานที่ได้รับงบมากสุดไปถึงน้อยที่สุด พบว่ามีข้อมูลดังนี้

  1. กรมชลประทาน 81,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,643 ล้านบาท
  2. กรมปศุสัตว์ 5,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท
  3. กรมส่งเสริมการเกษตร 5,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95 ล้านบาท
  4. กรมพัฒนาที่ดิน 4,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 605 ล้านบาท
  5. กรมการข้าว 4,447 ล้านบาท ลดลง 15,162 ล้านบาท
  6. กรมประมง 3,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148 ล้านบาท
  7. กรมวิชาการเกษตร 3,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 463 ล้านบาท
  8. กรมส่งเสริมสหกรณ์ 2,558 ล้านบาท ลดลง 25 ล้านบาท
  9. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 2,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 193 ล้านบาท
  10. สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 1,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60 ล้านบาท
  11. กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ 1,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29 ล้านบาท
  12. สำนักงานปลัดกระทรวงฯ 1,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148 ล้านบาท
  13. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36 ล้านบาท
  14. กรมหม่อนไหม 572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 ล้านบาท
  15. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) 504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท
  16. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68 ล้านบาท
  17. สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์การมหาชน)  166 ล้านบาท ลดลง 26 ล้านบาท