ตราดจัดเวที ฝ่าวิกฤตเอลนีโญ ช่วยสวนทุเรียนขาดน้ำ

04 ก.ย. 2566 | 08:22 น.

สส.ตราดจัดเวทีระดมสมองฝ่าวิกฤตเอลนีโญ หลังคาดเจอแล้งหนัก เหตุฝนตกน้อย ส่งผลกระทบต่อสวนทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจ ขณะชลประทานตราด เผยช่วยได้แค่1แสนไร่

วันที่ 4 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมวัดหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดตราด นายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราดเป็น ประธานเวทีเสวนา"การขับเคลื่อนภาคเกษตรฝ่าวิกฤตเอลนีโญ"ที่นายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.ตราด พรรคก้าวไกล และอดีตรองประธานกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร (สส.)จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นเตือนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น และเกษตรกรได้รับรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อจังหวัดตราด 

นายศักดินัย กล่าวว่า  จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)และกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย แจ้งว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งจะเกิดผลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างรุนแรงและยาวนานต่อเนื่อง จะเกิดฝนตกน้อยลงกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง ขาคแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ทางการเกษตร

จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้แทนของสภาเกษตรกรจังหวัดตราดตลอดจนพี่น้องชาวเกษตรกรถึงข้อกังวลและความห่วงใที่มีต่อพี่น้องชาวเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนผลไม้จะผ่านวิกฤตการณ์อันใหญ่หลวงนี้ไปได้

“จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ทางด้านการเกษตร และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญนอกจากยางพาราแล้วก็คือ ไม้ผล อันได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ซึ่งปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลเหล่านี้เป็นจำนวนมากขึ้น เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม้ผลเหล่านี้ได้สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวเกษตรกร

นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล

ดังนั้นน้ำจึงเป็นหัวใจสำคัญ เป็นเสมือนลมหายใจ ความอยู่รอดของชาวเกษตรกรการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 2 ประการประการแรก เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นและนำไปสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ประการที่สอง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางแก้ไขป้องกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวเกษตรกรน้อยที่สุด”สส.ตราดกล่าว

ขณะที่นายพีระ กล่าวว่า จังหวัดตราดจากที่เป็นจังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุดในประเทศ แต่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาเรื่องฝนตกเนื่องจากวันนี้จังหวัดตราดที่เคยมีสถิติปริมาณฝนตกในเดือนนี้ในปี 2565 จะมีถึง 3,000 มม. แต่วันนี้ในเดือนเดียวกันมีปริมาณน้ำฝนสะสมเพียง 2,000 มม.ซึ่งเหลืออีก 2 เดือนปริมาณน้ำในปีนี้คงไม่ถึง และน่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการเก็บกัดน้ำ

"จังหวัดตราดเคยมีประสบการณ์เรื่องการตัดต้นทุเรียนทิ้งเพื่อปลูกยางพาราเพราะราคายางแพงกว่า 100 บาท แต่วันนี้เกษตรกรตัดต้นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียนซึ่งปัญหาคือ ทุเรียนต้องการน้ำมาก หากไม่มีน้ำจะเกิดผลกระทบมาก" 


 

ขณะที่นายชลธี นุ่มหนู  อดีตผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรีได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ "การจัดการน้ำในสวนไม้ผลให้พ้นแล้ง" กล่าวว่า ในอีกไม่กี่เดือนจะเกิดผลกระทบมากในเรื่องของการขาดแคลนน้ำในจังหวัดตราดและภาคตะวันออก ซึ่งเราต้องยอมรับว่า พื้นที่ในภาคตะวันออกปลูกทุเรียนมาก

กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ  จำเป็นต้องใช้น้ำสูงมาก เมื่อปริมาณน้ำที่มีน้อยจึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อมให้ดี ซึ่งต้นไม้ 1 ต้นจำเป็นต้องใช้น้ำ  110.50 ลิตร/ต้น/วัน

ส่วนในการเสวนาหัวข้อ "การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรฝ่าวิกฤตเอลนีโญ"ที่มีศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาคกลาง นายเรือง ศรีนาราง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด นายธำรงศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดตราด ฯลฯ

 ได้เสนอปัญหาที่น่าสนใจว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกละสมที่เหลืออีก 1-2 เดือนนั้นอาจจะไม่ถึง 4,000 มม.ในปีนี้ แต่น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ 7 อ่างและประตูน้ำยังมีปริมาณน้ำอยู่ในระดับเพียงพอ โดยพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานตราด 1 แสนไร่ จะมีน้ำใช้แต่นอกเขตชลประทานอีก 3 แสนไร่นั้น จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ แต่ไม่น่าจะเพียงพอจึงต้องช่วยกันแก้ไขและเตรียมรับสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นช่วงหน้าฝนหากไม่มีฝนตกลงมาหรือตกน้อยจะส่งผลกระทบกับจังหวัดตราดมาก อีกทั้งเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากและไม่ได้แจ้งจำนวนพื้นที่ชัดเจนอาจจะได้รับผลกระทบเพราะทางราชการไม่สามารถเก็บน้ำได้ในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งมือแก้ไข 

ตราดจัดเวที ฝ่าวิกฤตเอลนีโญ ช่วยสวนทุเรียนขาดน้ำ

นายจักรพงษ์ วังบอน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาตราดกล่าวว่า ปริมาณฝนตกที่น้อยในปีนี้ของจ.ตราด ลดลงเหลือเพียง 50% เหลืออีก 2 เดือน คือ เดือนกันยายน และเดือนตุลาคม เป็นช่วงปลายฤดูฝน ฝนอาจจะตกไม่มาก  หลังจากกลางเดือนตุลาคมฝนอาจจะลดลงแล้ว 

และในช่วง 2 เดือนในปลายปีฝนอาจจะมีบ้าง แต่คงไม่มาก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และเป็นช่วงหน้าหนาวอากาศจะแห้ง และจะดูดซับอากาศชื้นไป และฝนจะเคลื่อนไปตกในภาคใต้  ลมจะเป็นตัวที่ทำให้ฝนตก ซึ่งยอมรับว่า ฝนอาจจะมีบ้างหากมีพายุ แต่ก็คงไม่มาก

ดังนั้น ไม่อยากให้เกษตรกรคาดหวังและควรจะประหยัดน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด