ญี่ปุ่นเปิดรับส้มโอไทยทุกสายพันธุ์จากไทย ในปี 67

13 ส.ค. 2566 | 08:10 น.

ผลหารือ JTEPA ส่งผลญี่ปุ่น เตรียมเปิดรับส้มโอไทยทุกสายพันธ์ ในปี 67 จากเดิมที่นำเข้าได้เพียงพันธุ์ทองดีเท่านั้น พร้อมยกระดับมาตรฐานผ่านสลาก Functional Foods เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 13 เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้หารือร่วมกับหน่วยงานญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการส่งออกส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ พร้อมบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ผ่านระบบการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร (Functional Foods) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเปิดตลาดการส่งออกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้เตรียมอนุญาตนำเข้าส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ จากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้าเฉพาะส้มโอพันธุ์ทองดีจากไทย เมื่อปี 2555 โดยจะพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดสายพันธุ์ในการนำเข้าส้มโอของไทย และจะเร่งรัดจัดทำเงื่อนไขการส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบการกำกับดูแลการผลิตและบริหารจัดการการส่งออกส้มโอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย โดย มกอช. จะร่วมมือกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Agriculture and Food Research Organization: NARO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยหลักด้านการเกษตรของญี่ปุ่น

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบมาตรฐานการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร สำหรับสินค้าเกษตรสดและสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นของไทย พร้อมกับแลกเปลี่ยนการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการผลิต โดยไทยจะศึกษาต้นแบบจากญี่ปุ่นเพื่อขยายโอกาสการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรเฉพาะถิ่น (Local ingredients) ด้วย

 

ปัจจุบันส้มโอไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรก ไปจำหน่ายยังกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยเป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นยังสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกได้อีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีกำลังซื้อสูงและมีประชากรกลุ่มผู้ดูแลรักษาสุขภาพและกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมาก โดยการแสดงฉลาก Functional Foods ที่แสดงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยและคุณภาพให้กับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

“ความคืบหน้าดังกล่าวสะท้อนความมุ่งมั่นดำเนินการของรัฐบาลที่ส่งเสริมผลไม้ไทยที่มีศักยภาพสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ ควบคุมคุณภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออก โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยได้มีช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น เสริมสร้างให้เศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคง” นางสาวรัชดากล่าว