พาณิชย์ผนึก 16 ผู้ประกอบการ ลุยซื้อกระเทียมแม่ฮ่องสอน ราคานำตลาด

13 ก.พ. 2566 | 07:33 น.

พาณิชย์ผนึก 16 ผู้ประกอบการ ชูตลาดนำการผลิต ลุยรับซื้อกระเทียมสีม่วง จ.แม่ฮ่องสอน นำร่อง อ.ปาย ราคานำตลาด 20-25 ต่อกก.ด้านเกษตรกรพอใจ พร้อมสะท้อนปัญหาขาดเงินทุน ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางลงทุนให้ก่อน แล้วหักลบกลบหนี้ ทำให้ได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่

จากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ร่วมกับผู้ประกอบการ 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม 8 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป 4 รายและตลาดกลาง 4 ราย  ได้คิกออฟรับซื้อพืช 3 หัวถึงแหล่งผลิต ได้แก่ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม ณ สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เมื่อ 27 มกราคม 2566

ทั้งนี้ได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกในราคานำตลาดในช่วงต้นฤดูการผลิตเพื่อกระจายสู่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่ง รวม 1,318 สาขา ตลอดจนร้านธงฟ้าอีก 1 หมื่นร้านค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”ของรัฐบาล ผ่าน “อมก๋อยโมเดล”ที่ริเริ่มโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดถึงคิวของ “กระเทียม”แม่ฮ่องสอน ที่ในสัปดาห์นี้ผู้ประกอบการได้เข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูก

นายกรนิจ  โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน  เผยว่า ในปี 2566  ทางกรมฯมีเป้าหมายซื้อกระเทียมล่วงหน้าพร้อมทำสัญญาในราคานำตลาดจำนวน 64,891 ตัน จากแหล่งปลูกสำคัญใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน  โดยช่วงสัปดาห์นี้จะมุ่งเป้าไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากผลผลิตกระเทียมเริ่มออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น ปัจจุบันทางกรมได้ร่วมกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อล่วงหน้าในราคานำตลาด ในส่วนของแม่ฮ่องสอนได้รับซื้อแล้ว กระเทียม 3,700 ตัน เชียงใหม่ 3,000 ตัน และลำพูน 1,300 ตัน ทำให้กระแสความต้องการมากขึ้น ตลาดคึกคักขึ้น

“ที่อำเภอปายตอนนี้เริ่มแล้ว ผู้ประกอบการที่เราเชื่อมโยงได้ เข้าไปรับซื้อในราคายี่สิบบาทต่อกิโลฯ  จากเมื่อก่อนไม่มีใครไปซื้อตั้งแต่ต้นฤดู แต่จะรอให้ผลผลิตออกมามากแล้วค่อยไปซื้อกดราคา เกษตรกรจะเก็บก็เก็บไปไม่รู้อนาคต แต่ตอนนี้พอเก็บผลผลิตปุ๊บ ก็มีคนมาแย่งซื้อปั๊บ”นายกรนิจกล่าว 

นายกรนิจ  โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน โชว์พืช 3 หัว

ขณะที่ หนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ 16 รายที่ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายในเข้าไปรับซื้อกระเทียมถึงแหล่งปลูกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ผลผลิตกระเทียมของอำเภอปายเริ่มให้ผลผลิตก่อนอำเภออื่นในพื้นที่ ซึ่งคุณภาพกระเทียมแม่ฮ่องสอนปีนี้ดีมาก ซึ่งผู้ประกอบได้เริ่มรับซื้อที่อำเภอปาย จากนั้นจะทยอยรับซื้อไปเรื่อย ๆ ในอำเภออื่น ๆ (แม่ฮ่องสอนมีแหล่งปลูกกระเทียมหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ปาย และอ.ขุนยวม) ซึ่งราคากระเทียมปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) อย่างไรก็ตามกระเทียมของแม่ฮ่องสอน ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงต้นฤดู ผลผลิตจะออกมามากราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

พาณิชย์ผนึก 16 ผู้ประกอบการ ลุยซื้อกระเทียมแม่ฮ่องสอน ราคานำตลาด

“เวลานี้พวกคนกลางตื่นตัวกันมาก โทรหากันวุ่นว่าขายที่ไหน ขายให้ใคร   เขาจะเก็บมาขายบ้าง  ส่วนเราจะไม่รับซื้อจากคนกลาง แต่จะซื้อจากเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นางนันทนา พรมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เมืองแปง อำเภอปาย ในฐานะประธานแปลงใหญ่กระเทียมอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ส่งผลให้ราคากระเทียมปีนี้ที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา  โดยเวลานี้กระเทียมสดที่ผู้ประกอบการเข้ามารับซื้ออยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อ กก.ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตยังออกมาไม่มาก ต้องรอดูช่วงเดือนมีนาคมที่ผลผลิตจะออกมามากว่าราคาจะอยู่ที่เท่าไร

พาณิชย์ผนึก 16 ผู้ประกอบการ ลุยซื้อกระเทียมแม่ฮ่องสอน ราคานำตลาด

สำหรับจุดเด่นกระเทียมแม่ฮ่องสอน ถือเป็นสุดยอดของกระเทียมไทยต่างจากที่อื่น โดยมีสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน จากการวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ดี ปัญหากระเทียมของอำเภอปายในปัจจุบัน นอกจากพื้นที่ปลูกลดลงทุกปีประมาณ 20% แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าพันธุ์  และอื่น ๆ

ขณะที่ส่วนหนึ่งมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางมาลงทุนให้กับเกษตรกร พร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า เวลาขายก็ต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลาง จากเกษตรกรไม่มีเงินลงทุนเอง โดยพ่อค้าลงทุนให้ก่อนแล้วค่อยหักลบกลบหนี้ตอนขายผลผลิต ทำให้ขายได้ราคาต่ำ เหล่านี้คือปัญหาหลัก ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นวิธีแก้รัฐบาลต้องหาแหล่งทุนให้เกษตรกร หรือกระทรวงพาณิชย์ต้องหาบริษัท/ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด

พาณิชย์ผนึก 16 ผู้ประกอบการ ลุยซื้อกระเทียมแม่ฮ่องสอน ราคานำตลาด

อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้คาดการณ์ผลผลิตกระเทียมของไทย ในฤดูการผลิตปี 2566 คาดจะมีผลผลิตประมาณ 64,891 ตัน พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอยู่ที่ 61,563 ไร่ แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ  โดยจังหวัดเชียงใหม่ ให้ผลผลิตมากที่สุด   25,556 ตัน  รองลงมา คือ แม่ฮ่องสอน  20,837 ตัน  ลำพูน  1,925 ตัน และพื้นที่อื่น ๆ อีก 16,573 ตัน