โรงแรมรายใหญ่รอดแล้วเหลือธุรกิจเอสเอ็มอียังเดี้ยง

16 ส.ค. 2565 | 09:12 น.

ปัจจุบันโรงแรมรายใหญ่รอดแล้ว เหลือแต่ธุรกิจเอสเอ็มอียังเดี้ยง แม้ครม.มีมติซอฟต์โลน 5,000 ล้านบาท ผ่านแบงก์ออมสิน ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เอกชนจี้ผลักดันการจัดตั้งกองทุน สำหรับผู้ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ธนาคาร เป็น NPL แล้ว จึงต้องมีเงื่อนไขต้องยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

การทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยที่เกิดขึ้น ปัจจุบันต้องยอมรับว่าธุรกิจโรงแรมรายใหญ่รอดแล้ว เพราะได้อานิสงส์ทั้งจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ในปีนี้มีแนวโน้มว่าจะแตะ10 ล้านคน แต่สำหรับธุรกิจโรงแรมในระดับเอสเอ็มอี ต้องยอมรับในขณะนี้ก็ยังไปไม่รอดอยู่

 

แม้จะเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักที่ฟื้นตัวก่อนใครอย่าง จ.ภูเก็ต โดยสถานการณ์ของธุรกิจห้องพักและโรงแรมขนาดเล็กพบว่าปัจจุบันในจ.ภูเก็ต ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ล่าสุดหลายแห่งถูกสถาบันการเงินยึดทรัพย์ และประกาศขายทอดตลาด และยังมีโรงแรมขนาดเล็กอีกกว่า 200 แห่ง อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่าปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ถือว่ารอดแล้ว  แต่ยังคงเหลือแต่กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่รอด ผมจึงจะลงพื้นที่ภูเก็ตในช่วงต้นเดือนหน้า เพื่อหารือและรับฟังปัญหากับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ในการหาทางช่วยเหลือ โดยจะทำให้เป็นภูเก็ตโมเดล ถ้าดำเนินการได้สำเร็จก็สามารถช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นได้

 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

ทั้งนี้หากเราผลักดันให้แบงก์รัฐหรือเอสเอ็มอีแบงก์ เข้าไปช่วย เหลือในการจัดสรรเงินลงทุนให้เขากลับมาเปิดธุรกิจได้อีกครั้ง ก็จะทำให้เขาสามารถหารายได้ มาจากหนี้สินต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้กลับมามีกำลังในการทยอยชำระหนี้ได้ โดยไม่ถูกบังคดี เพราะจริงๆ แบงก์ก็คงไม่ได้อยากยึด และจริงๆ ผู้ประกอบการเล็กก็ไม่ได้ต้องการเงินมากถึง 5 ล้านบาทด้วย ซํ้าแค่ราว 1 ล้านบาทก็น่าจะทำให้ดำเนินธุรกิจได้

 

จริงๆ ธุรกิจโรงแรมเอสเอ็มอีในภูเก็ต ก่อนโควิด-19 ก็ลำบากอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน แต่มีการสร้างโรงแรมเพิ่ม 18% ก็ประสบผล กระทบจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย พอเจอโควิดไปร่วม 2 ปีก็วิกฤตหนักมาก และที่ผ่านมาด้วยความที่โรงแรมระดับเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาติถูกต้องตามกฎหมายคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% มีแค่ 20% ที่จดทะเบียนถูกต้อง

ที่ผ่านมาเราก็พยายามช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวกัน โดยอนุโลมให้แก่มีใบเสร็จรับรอง หรือแสดงหลักฐานการเสียภาษีถูกต้อง ก็ให้เข้าร่วมโครงการได้ แต่ก็แทบไม่มีใครสมัครเข้ามา เราก็ต้องเข้าไปหารือว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์หินพอสมควร นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ล่าสุดแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการในการช่วยเหลือ โดยครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (Soft Loan) Reopen ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของ โรงแรม วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

 

หรือเพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมสถานประกอบกิจการ หรือลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1,000 ราย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

โรงแรมรายใหญ่รอดแล้วเหลือธุรกิจเอสเอ็มอียังเดี้ยง

 

ทั้งนี้จะมีธนาคารออมสินเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยตรงกับผู้ประกอบการ วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี ในกรณีที่มีระยะเวลาการกู้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยที่ปีที่ 1-2 ร้อยละ 1.99 ต่อปี ปีที่ 3-7 อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ ธนาคารออมสินกำหนด

 

โดยมีหลักทรัพย์คํ้าประกันเต็มวงเงิน หรือหลักทรัพย์คํ้าประกันร่วมกับ บสย. หรือ บสย.คํ้าประกันเต็มวงเงิน ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครง การจะหมด ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 200 ล้านบาท

 

โครงการดังกล่าวก็น่าจะช่วยผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการที่จะขอรับสินเชื่อได้ ในคุณสมบัติที่ระบุไว้ คือ ต้องกำไรอย่างน้อย 1 ใน 3 ปี ย้อนหลังล่าสุดและกรณีเป็นนิติบุคคล ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่ติดลบ แน่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการก็ขาดทุนมานานหลายปีต่อเนื่องติดต่อกัน วันนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังยืน อยู่ได้โดยไม่ได้ปิดกิจการไปแล้วก่อนหน้านี้ล้วนอยู่ในภาวะเปราะบาง

 

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าจาก โครงการซอฟต์โลนนี้ ถือเป็นหนึ่งใน 2 เรื่องที่ทางผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้มีการร้องขอนายกรัฐมนตรีให้ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งหลังพบนายกรัฐมนตรีได้ราว 1 สัปดาห์ ครม.ก็อนุมัติการเติมทุน เราคือ Softloan ผ่านออมสิน งบ 5,000 ล้าน ด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

 

แต่ยังเหลืออีกข้อเสนอ คือเรื่องการจัดตั้ง กองทุน smart tourism fund สำหรับผู้ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ธนาคาร เป็น NPL แล้ว จึงต้องมีเงื่อนไขต้องยืดหยุ่นมากกว่า เดิม เราก็หวังว่าจะมีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวออกมา ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มที่ท่องเที่ยวในวงกว้างขึ้น