Top 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2567

29 ม.ค. 2567 | 18:57 น.

คนเลือกงานมากกว่างานเลือกคน WorkVenture เผยผลโหวต “Top 50 Companies in Thailand 2024” 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด

นายเย็นส์ โพลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด เป็นประธานมอบโล่รางวัลในครั้งนี้ ซึ่งการสำรวจ Top 50 Companies in Thailand เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2560 โดยผลสำรวจได้รับการยอมรับจากทั้งทางองค์กรธุรกิจทั้งของประเทศไทย และต่างชาติ ผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูง เหล่าคนทำงานมืออาชีพ และจากฝั่งผู้ที่กำลังมองหางาน รวมถึงนิสิตนักศึกษาจากทั่วประเทศ ว่าเป็นการเสนอชื่อองค์กรที่น่าทำงานของคนรุ่นใหม่ที่น่าเชื่อถือที่สุด

 

สำหรับไฮไลต์ของงานในปีนี้ นอกจากการมอบรางวัลให้กับ 50 องค์กรที่ได้รับการโหวตสูงสุดแล้ว ทาง WorkVenture ยังได้เปิดเวทีเสวนา วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการรับรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อช่วยยกระดับองค์กรให้กลายเป็นบริษัทที่คนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานด้วยมากที่สุด โดย คุณจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ Head of Employer Branding/ ที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง จาก WorkVenture

Top 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2567

TOP 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดปี 67

  1. Google
  2. PTT
  3. SCG
  4. Agoda
  5. Unilever
  6. LINE
  7. Toyota Motor
  8. ThaiBev
  9. Mitr Phol
  10. Bangchak
  11. Apple
  12. BJC Big C
  13. KASIKORNBANK
  14. LINE MAN Wingnai
  15. AIS
  16. Tik Tok
  17. CP ALL
  18. SCBX
  19. SC Asset
  20. KHOTKOOL
  21. Boon Rawd Brewery
  22. Central Group
  23. Meta
  24. Siam Piwat
  25. Microsoft
  26. Lazada
  27. Sansiri
  28. Saha Pathanapibul
  29. Siam Commercial Bank
  30. Tesla
  31. CP Group
  32. Krungsri
  33. Osotspa
  34. Accenture
  35. Lotus's
  36. Bitkub
  37. Shopee
  38. RS Group
  39. True Corporation
  40. Suntory PepsiCo Thailand
  41. Netflix
  42. CP Axtra (Makro)
  43. UOB
  44. AIA Thailand
  45. The Standard
  46. FWD Thailand
  47. Krungthai
  48. Workpoint
  49. Unicharm
  50. IKEA

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการสรรหาบุคลากรในตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ด้านการตลาด วิศวกรรม การเงิน ฯลฯ เนื่องจากพนักงานระดับ Top Talent มีทางเลือกมากมาย ในการเลือกทำงานกับบริษัทที่น่าสนใจ และให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้มากกว่า นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “Talent War” ซึ่งในปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ยื่นข้อเสนอสู้ (counter offers) อย่างรุนแรงเพื่อดึงดูดทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กรต่อไป

บริษัทต่างๆ มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีทักษะระดับสูง และเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding) ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มการรับรู้ของบริษัทให้สามารถเข้าถึงกลุ่ม Talent ได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะนายจ้างที่น่าร่วมงานด้วย สามารถมอบปัจจัยที่สมดุลทั้ง 4 ได้แก่ ผลตอบแทนและความก้าวหน้า ผู้คนในองค์กรและวัฒนธรรม ลักษณะงานและการทำงาน สุดท้ายคือภาพลักษณ์ขององค์กร รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายให้กับพนักงานได้ ทั้งเรื่องธรรมาภิบาล ความยั่งยืน การทำงานที่มีความหมายต่อชีวิต Work/life Balance ความมั่นคงในอาชีพ และความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของทาเลนต์ในการเลือกที่จะเข้าทำงานและเติบโตต่อไปกับบริษัทนั้น ๆ

การดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถนั้น ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในการสรรหาบุคลากรเท่านั้น แต่ในระยะยาว สิ่งนี้จะเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะมีพนักงานที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะมาขับเคลื่อนองค์กร พร้อมนำเสนอสินค้าและบริการที่น่าดึงดูดให้กับลูกค้าได้ อีกทั้งมีความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทคู่แข่ง ดังนั้นในบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจึงเล็งเห็นความสำคัญของ Employer Branding ควบคู่ไปกับ Corporate Branding เพื่อสร้างกลยุทธ์การพัฒนาของบริษัทอย่างยั่งยืน เพราะ Employer Branding ที่แข็งแกร่งไม่เพียงแต่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เติบโต และก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนในการสรรหาบุคลากรอีกด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของ ผู้สมัครงาน WorkVenture มีคำแนะนำว่า ทุกวันนี้การค้นหาข้อมูลองค์กรไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนายจ้างหันมาสร้างแบรนด์กันมากขึ้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าตำแหน่งงาน ขอบเขตการทำงาน และลักษณะการประกอบธุรกิจ รวมไปถึงผลตอบแทนและสวัสดิการแล้ว ข้อมูลและเรื่องราวของชีวิตการทำงานจริงในองค์กรนั้นจะช่วยให้ผู้สมัครตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นว่าที่นี่จะเป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์หรือไม่ วัฒนธรรมการทำงาน ผู้คน สังคม ตรงกับสไตล์ของผู้สมัครเพียงใด เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกที่ทำงานที่ 'ตรงใจ' และ 'ใช่' มากที่สุด

ส่วนคำแนะนำสำหรับนายจ้าง ยิ่งสื่อสารตัวตนและเรื่องราวขององค์กรที่เน้นถึงประสบการณ์อันยอดเยี่ยมกับกลุ่มเป้าหมายมากเท่าไหร่ การจดจำและความผูกพันเชื่อมโยงกับแบรนด์ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ยั่งยืนสำหรับองค์กร คือ การนำเสนอว่าคุณค่าของการได้มาร่วมงานกับที่นี่พิเศษอย่างไร บอกเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะประกาศรับสมัครงานตำแหน่งใด สายงานไหน องค์กรที่อยู่ในใจผู้สมัครย่อมได้การตอบรับจากทาเลนต์คุณภาพมากกว่าองค์กรที่ไม่ได้สร้างแบรนด์ให้แข็งแรง