สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนปะทุ "เวียดนาม" จะเลือกข้างกันไหนกันแน่?

04 เม.ย. 2567 | 22:00 น.

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์นี้วาง "เวียดนาม" ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ 2 มหาอำนาจไว้ในจุดยืนที่ลำบาก เวียดนามจะต้องเลือกข้างอย่างไร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย

การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางภูมิรัฐศาสตร์สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจโลก และเป็นแรงผลักดันการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การแย่งชิงอำนาจระหว่างทั้งสองประเทศได้กำหนดกฎระเบียบทั่วทั้งภูมิภาคและอุตสาหกรรม โดยภาคเทคโนโลยียืนอยู่แถวหน้าของการหยุดชะงักนี้

ชนวนสงครามเริ่มจากจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ด้วยการดำเนินนโยบายบีบบังคับบริษัทอเมริกันให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการลงทุนในจีน  และรัฐยังสนับสนุนบริษัทจีนให้ซื้อกิจการในสหรัฐฯ รวมถึงส่งเสริมแฮกเกอร์เจาะระบบไซเบอร์ทางธุรกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม

การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อจีนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายยุค “โดนัล ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พยายามปรับปรุงเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมบริษัทของสหรัฐฯ และเพิ่มตำแหน่งงานด้านการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐฯ มากกว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่จีนมีต่อสหรัฐฯ ฝ่ายบริหารของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดำเนินสงครามการค้าต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีระดับโลกอย่างไม่หยุดยั้ง

ตั้งแต่นั้นมาสงครามการค้าได้มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ในสมรภูมิสงครามที่ดุเดือด “เวียดนาม” เป็น “ผู้ชนะ” โดยดูดซับกำลังการผลิตที่จีนสูญเสีย นอกจากแรงงานที่เป็นวัยหนุ่มสาว ค่าแรงถูกและการเมืองที่มีเสถียรภาพ เวียดนามมีนโยบายการค้าและการลงทุนที่เปิดเสรีมากขึ้น ทำให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการกระจายการลงทุนออกจากจีน ผู้ผลิตจำนวนนับไม่ถ้วนย้ายหรืออยู่ระหว่างการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนไปยังเวียดนาม รวมถึงประกาศล่าสุดจาก LG, Google, Apple และ Sharp และอื่นๆ อีกมากมาย บริษัทต่างชาติที่มีฐานการผลิตในเวียดนามกำลังได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้น

“FTA ของเวียดนามมากกว่าไทย 3 เท่า มีทั้งหมด 16 ฉบับ ครอบคลุม 54 ประเทศ ประเทศไทยมีแค่ 4 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศ เวียดนามยังมี FTA กับสหภาพยุโรป แต่ไทยไม่มีแม้จะมีความพยายามมาตลอด ถ้าบริษัทจะมาลงทุนในไทยโดนภาษี 30% แต่ไปเวียดนาม 0% ส่งออกก็ 0% ไม่มีอะไรที่ต้องมาประเทศไทย ดังนั้นเวียดนามจึงเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อรองรับการเติบโต ทั้งการขยายเส้นทางบกเพื่อให้เชื่อมต่อถึงกันทั่วประเทศ ทางอากาศก็สร้างสนามบินในจังหวัดต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนท่าเรือของเวียดนามมีความพร้อมมาก เร่งปราบปรามการคอร์รัปชันในประเทศอย่างหนัก มีแอคชั่นแพลนว่าภายในปี 2030 จะต้องมีวิศกรประมาณ 50,000 คน เพื่อจะเป็นฮับเซมิคอนดักเตอร์” " ดร.พิสิฐ อำนวยเงินตรา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของเพจ Dr.VietNam กล่าว

สอดคล้องกับ รายงานล่าสุดของ Sea-Intelligence ระบุว่า การเชื่อมต่อของเวียดนามอยู่ในวิถีขาขึ้นอย่างต่อเนื่องและตั้งข้อสังเกต โดยอ้างถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดซึ่งยังคงรักษาไว้ได้

พูดกว้างๆ คือ การค้าที่บูมของเวียดนามทำให้อยู่ในกรอบการเป็นเสือตัวต่อไปในเอเชีย เกือบ 20 ปีที่แล้ว Goldman Sachs ทำนายว่าเวียดนามจะติดอันดับ 21 ในกลุ่มเศรษฐกิจโลกภายในปี 2568 ปัจจุบัน IMF จัดให้อยู่ที่ 37 ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 433 พันล้านดอลลาร์ เกือบจะเท่ากับมาเลเซีย แต่ตามหลังโปแลนด์

หาก “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทิศทางสมรภูมิการค้าในปีนี้ถูกจับตามองท่ามกลาง ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 มีโพลออกมาหลายสำนักว่าทรัมป์มีโอกาสชนะ การกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง กำลังสร้างความตื่นตระหนกให้กับพันธมิตรสหรัฐฯในยุคไบเดน

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" วางแผนที่จะยกระดับ "สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน" ที่ก่อขึ้นในช่วงวาระแรกในฐานะประธานาธิบดี หากได้รับเลือกเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ผู้นำพรรคริพับลิกัน(GOP) ยืนยันว่ากำลังพิจารณาแผนการกำหนดอัตราภาษี 60% หรือสูงกว่าสำหรับสินค้าจีน นอกเหนือจากจีนแล้ว อดีตประธานาธิบดียังจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้า 10% สำหรับการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ

“เวียดนาม” ผู้ชนะในสงครามการค้า จะได้รับผลกระทบอย่างไร  

ดร.พิสิฐ อำนวยเงินตรา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของเพจ Dr.VietNam  วิเคราะห์ว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น แต่ในมุมของเวียดนามยิ่งแรงขึ้นยิ่งได้ประโยชน์ เนื่องจากทุกบริษัทที่ลงทุนในจีนซึ่งทุกวันนี้ย้ายมาที่เวียดนามจำนวนมากจะย้ายมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวียดนามจะเป็นหมุดหมายที่ถือว่าดีสำหรับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองประเทศ เว้นแต่ว่าจีนทำสงครามกับไต้หวัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีคำเตือนจากสหรัฐฯ หลังจากคาดการณ์ว่าสงครามเกี่ยวกับไต้หวัน อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2568

“ถ้าทรัมป์ชนะเวียดนามจะได้ประโยชน์จนกว่าจะเกิดสงครามในเกาะไต้หวัน แต่สถานการณ์โลกเปลี่ยนเพราะจีนมีปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ คิดว่าจีนต้องกลับมาดูแลตัวเองก่อน ขณะที่ท่าทีของทรัมป์ก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพราะเป็นนักธุรกิจ ทุกคนเชื่อว่าถ้าทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะแย่ขึ้นในด้านภาษี นอกจากนี้ความขัดแย้งเกาะไต้หวันจะรุนแรงมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งของไต้หวันล่าสุดผู้นำประเทศยอมรับสหรัฐฯมากกว่าจีน เป็นจุดเปราะบางของภูมิรัฐศาสตร์ เวียดนามก็จะแย่เพราะต้องเลือกข้าง”

เช่นเดียวกับตัวอย่างการทำสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน รัฐบาลเวียดนามประกาศท่าทีเป็นกลาง และเป็นหนึ่งใน 35 ประเทศ ที่งดออกเสียงในการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อมติให้รัสเซียถอนทหารจากยูเครนทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งหากเกิดสงครามในไต้หวันจริงเวียดนามจะแสดงท่าทีงดออกเสียงเช่นกัน

“เชื่อว่าเวียดนามไม่เลือก จะเลี่ยงเหมือนตอนรัสเซียบุกยูเครนที่ไม่ลงมติประณาม การไม่เลือกจะยิ่งเป็นผลเสียเพราะว่า สหรัฐฯ จะเริ่มไม่ไว้ใจมากขึ้น จีนที่เป็นมิตรกับเวียดนามก็จะไม่มีความเชื่อมั่นในเวียดนาม จุดนี้อันตรายมาก ถ้าเทียบกับประเทศไทยตอนที่นายกฯ เศรษฐาไปกล่าวที่ต่างประเทศบอกว่า ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ต้องการเจอสถานการณ์รุนแรงหากมหาอำนาจมีปัญหาแล้วรบกัน ไทยต้องเลือกข้างจะทำตัวอย่างไร ซึ่งประเทศไทยยังถือว่าไม่ได้บนจุดเสี่ยง ถ้าเปรียบเป็นถนนไทยอยู่เส้นรอง แต่ทางหลวงหลักคือทะเลจีนใต้ สินค้าจากยุโรปจะขึ้นไปตะวันออกต้องผ่านทะเลจีนใต้ เวียดนามก็ติดทางหลวงหลักถ้าคับขันเวียดนามแย่แน่”

เวียดนาม จะเลือกข้างไหน  ?

หากดูจากสถิติแล้วจะพบว่า ในปี 2565 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากเวียดนามคิดเป็นมูลค่ากว่า 127.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 101.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 79.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของสหรัฐ ขึ้นมาจากปีก่อนหน้าที่ยังอยู่อันดับที่ 10 หากเวียดนามจำเป็นต้องเลือกสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นว่าคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม จีนจะปิดด่านชายแดน

“จีนทำง่ายๆ คือปิดด่านชายแดน เวียดนามตายเลย เหมือนตอนโควิดที่จีนปิดชายแดน การค้าไปไม่ได้ สินค้าจากเวียดนามเข้าจีนไม่ได้ จีนมาเวียดนามไม่ได้ สินค้าไปรวมกันที่ชายแดนรวม 3-4 เดือน ทำให้การค้าแย่หมด ภาพเศรษฐกิจเวียดนามตอนนั้นร้านค้าขายปิดหมด เพราะปกติเครื่องยนต์หลักของเวียดนามมี  2 อย่าง คือ FDI มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการค้าขายกับต่างประเทศ พอขายไม่ได้ก็จบเลย แล้วหลักๆ คือ พอเกิดสงครามการค้ามหาอำนาจสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯ สหรัฐฯก็จับตาเวียดนาม เพราะกังวลว่าสินค้าที่มาผลิตในเวียดนามแล้วส่งไปสหรัฐฯจะเป็นสินค้าจีนที่ไปประทับตราว่าเป็นเมดอินเวียดนาม”

หากกลับกันเวียดนามเลือกจีน ?

ดร.พิสิฐ มองว่าเวียดนามจะไม่กล้าทำอย่างนั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีบทเรียนจากยูเครน จึงกลัวโดนสหรัฐฯ ลอยแพ ดังนั้นจึงประเมินว่า เวียดนามจะไม่เลือกข้างไหนเลย

“การไม่เลือกข้างไหนก็จะเป็นผลเสีย ถ้าเกิดสงครามขึ้นตามที่มีการคาดการณ์ในปีหน้าว่าจีนจะบุกไต้หวัน เป้าหมายของเวียดนามที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ในปี 2593 ซึ่งปรับเป้าจากปี 2588 เวียดนามจะไปไม่ถึงจุดนั้นแน่นอน แต่ถ้าสหรัฐกับจีนดีลกันได้เวียดนามก็จะเสียประโยชน์ เพราะไม่มีเหตุผลที่สหรัฐฯ จะมาเอาใจเวียดนาม หรือจีนจะมาเอาใจ เกมจะพลิก คือ บริษัทไม่มาลงทุนในฐานะเป็นฐานการผลิตของโลก ที่เคยย้ายมาก็จะกลับมาที่จีน เพราะจีนก็มีความพร้อม ถึงค่าแรงจะแพงแต่ประชากรเยอะ ประเทศใหญ่ เทคโนโลยีก็มี”

“นโยบายไผ่ลู่ลม” การแก้เกมของเวียดนาม

ที่ผ่านมาเวียดนามถูกจับตาในการพยายามรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างน่าสนใจ โดยเรียกแนวทางนี้ว่า “นโยบายไผ่ลู่ลม” ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่การแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัด  นโยบายไม้ไผ่ (bamboo diplomacy) ของเวียดนามมีมิติที่น่าสนใจ เพราะเวียดนามมีประวัติศาสตร์กับทั้งสองชาติที่ซับซ้อน

“เวียดนามพยายามการแก้เกมเพราะรู้ว่าจุดนี้เป็นความเสี่ยง ที่ผ่านมาจะเห็นว่านายกฯ เวียดนามตะลอนไปทั่วโลก อย่างการไปเชื่อมกับอิสราเอล ไปขอทำ FTA กับอเมริกาใต้ เพราะเชื่อว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้การค้าการขายกับต่างประเทศมีแต่ทรุดจึงต้องไปหาตลาดใหม่ในประเทศเล็กๆ ปกติเวียดนามจะมี 4 คน ที่ถือว่าสำคัญ คือ เลขาธิการพรรค นายกรัฐมนตรี ประธานประเทศ และประธานสภา ซึ่งประธานประเทศและนายกฯ เดินสายไปทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงลง ถ้าไปดูมูลค่าการซื้อขายระหว่างประเทศ เวียดนามพึ่งพาสหรัฐ และจีนมหาศาล”