ศุลกากร เข้มจับ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า" ปราบสินค้าผิดกฎหมาย

29 มี.ค. 2567 | 04:55 น.

กรมศุลกากร ขานรับนโยบายรัฐบาล สกัดเข้มจับ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า" ก่อนเข้ามาระบาดในไทยทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

29 มีนาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่าตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้า-ส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสินค้าที่เป็นภัยต่อสังคม อาทิ อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน ส่วนประกอบของปืน ยาเสพติด บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า และสุราเถื่อนว่า

กรมศุลกากรได้ทำงานเต็มที่ตั้งแต่เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือ ท่าอากาศยาน กรมศุลกากรจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบจับกุมสินค้าลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมถึงดูเทรนด์ของสินค้านั้น ๆ ว่า ช่วงนี้มีอะไรที่เป็นเทรนด์ผิดกฎหมายหรือแนวทางการนำเข้า-ส่งออก อย่างบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า หรือ สินค้าผิดกฎหมาย

หากเล็ดลอดเข้ามาแล้วก็จะมีการจัดชุดสืบสวนว่า สินค้าจำพวกนี้ไปจัดเก็บที่ไหนบ้าง พอทราบจุดเป้าหมายแล้วก็จะไปขอศาลอนุมัติหมายค้นสถานประกอบการโกดังต่างๆ จนได้สินค้าผิดกฎหมาย

ล่าสุด กรมศุลกากรจับบุหรี่ไฟฟ้าได้เยอะมากแต่หากเราไปตรวจดูที่ท่าอากาศยาน ท่าเรือ มันจะเกิดช่องว่างเรื่องที่ว่า จะมีการซุกซ่อนเข้ามาในตู้คอนเทนเนอร์ที่บางครั้งแอบซ่อนมาในจำนวนไม่มาก เช่น บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าที่แอบซ่อนมาเพียง50 กิโลกรัม แต่ตู้คอนเทนเนอร์รับน้ำหนักได้ 2,500 กิโลกรัม ดังนั้น พวกบุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า หากอยู่ท้ายตู้คอนเทนเนอร์ก็จะมองไม่เห็น แม้กระทั่งการใช้เครื่อง X-Ray ในการตรวจค้นแล้วก็ตามก็จะตรวจค้นไม่พบ เนื่องจาก เป็นสินค้าที่แอบแฝงมาในจำนวนไม่มาก เหมือนเป็นการตบตาเจ้าหน้าที่

ศุลกากร เข้มจับ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า" ปราบสินค้าผิดกฎหมาย

ดังนั้น กรมศุลกากรจึงตรวจจับได้ยากขึ้น ทำให้ไม่สามารถรื้อค้นตู้คอนเทนเนอร์ได้ทุกตู้จึงทำให้วิธีที่แก้ปัญหาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ กรมศุลกากรได้มีการจัดชุดทำงานและชุดเคลื่อนที่เร็วโดยการไปสุ่มตรวจสินค้าในแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมกับใช้วิธีการหาข่าว พอทราบว่า สินค้าผิดกฎหมายจะไปส่งปลายทางที่ใด ก็จะขอศาลออกหมายค้น ตามสถานที่ประกอบการหรือโกดังเก็บสินค้าต่างๆ ก่อนจะขอศาลออกหมายจับ

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี โฆษกกรมศุลกากร

นอกจากนี้กรมศุลกากรมีการคุมเข้มในเรื่องการขนถ่ายพวกบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เถื่อนกันกลางทะเล ก่อนจะวกกลับเข้าประเทศไทย ดังนั้น กรมศุลกากรจึงร่วมกับตำรวจน้ำจับกุมกันกลางทะเล เพื่อไม่ให้บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาระบาดในประเทศไทยเพราะจะทำให้สูญเสียผลประโยชน์แก่ประเทศแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ว่าจะให้ทางรัฐบาลมีการสนับสนุนการปราบปรามเพิ่มเติมหรือไม่นั้น นายพันธ์ทอง เผยว่า ขณะนี้ทางกรมศุลกากรได้ตั้งงบการปฏิบัติงานและจับกุมแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างครบถ้วนแล้ว

ส่วนกรณีการจัดการปัญหาสินค้าเถื่อนกรมศุลกากรได้มีการประสานงานหรือพูดคุยกับประเทศต้นทางที่มีทำการค้าหรือไม่ นายพันธ์ทอง ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยหรือหารือไปถึงประเทศต้นทางเพราะประเด็น คือ เวลาส่งออกบางสินค้ามันไม่ได้ผิดกฎหมายจากประเทศต้นทาง เช่น บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า มีหลายประเทศไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือมีข้อห้ามแต่ประการใด

ศุลกากร เข้มจับ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า" ปราบสินค้าผิดกฎหมาย แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า "ห้ามนำเข้า" แต่ถ้าเป็นยาเสพติด กรมศุลกากร ได้มีการร่วมมือกันการทำงานหาข่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งการนำเข้าและการส่งออก