คลังลุยถก Bitkub ดัน “โทเคนดิจิทัล” เป็น “หลักทรัพย์”

06 ก.พ. 2567 | 09:17 น.

รมช.คลัง เผยครม. ไฟเขียว ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ลุยถก Bitkub ดันโทเคนดิจิทัล เป็น “หลักทรัพย์” ฝั่ง “สรรพากร” เด้งรับเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange

รวมทั้งเพิ่มการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลผ่าน Broker และ Dealer โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยในการออกมาตรการดังกล่าวนี้ รัฐสูญเสียรายได้ 70 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกับผู้บริหาร Bitkub แพลตฟอร์มเทรดเหรียญดิจิทัล เพื่อเดินหน้าการสนับสนุนให้โทเคนดิจิทัล บางลักษณะเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการคลังและก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีดังต่อไปนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร

 1. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ใน Exchange ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

 2. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ผ่าน Broker ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

 3. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ให้แก่ Dealer ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

 4. การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดย Dealer ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอน Investment Token ทั้งในตลาดแรกและในตลาดรองได้ดำเนินการเป็นการถาวรแล้ว โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

 “มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี และประเทศไทยมีความสามารถ   ในการแข่งขันเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย”