วิกฤตขัดแย้งทะเลแดง เอกชนหวั่นดันค่าระวางเรือพุ่ง กระทบส่งออกหนัก

24 ม.ค. 2567 | 22:52 น.

ภาคเอกชน หวั่นวิกฤตความขัดแย้งทะเลแดง  ชนวนสำคัญกระทบต่อค่าระวางเรือพุ่งกระฉูด หากสถานการณ์ไม่ยุติ-บานปลาย สุดท้ายออาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจของโลก ไทยหนีไม่พ้นสะเทือนนำเข้า-ส่งออกหนัก

ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงวิกฤตขัดแย้งในทะเลแดง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อการส่งออกและการฟื้นตัวเศรษฐกิจว่า หากความขัดแย้งยังไม่ยุติและบานปลาย อาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจของโลก จนอาจส่งผลกระทบต่อค่าระวางเรือปรับตัวสูง รวมถึงผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยซึ่งพึ่งพาการนำเข้าและส่งออกในสัดส่วนที่สูงด้วย

ดร.ธนิต ระบุรายละเอียดว่า ความเป็นมาของกบฏฮูตี เป็นกองกำลังมุสลิมหัวรุนแรงได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่านสามารถยึดเมืองหลวงและพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเยเมน ช่วงปลายปีที่แล้วคุกคามเส้นทางเดินเรือพาณิชย์เพื่อกดดันการขนส่งสินค้าสู่อิสราเอลแต่ผลข้างเคียงกระทบต่อเส้นทางขนส่งทางทะเลของโลกสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรส่งกองเรือรบเข้าไปในพื้นที่มีการถล่มพื้นที่เป้าหมายในเยเมน กระทบไปถึงอิหร่านเข้าแทรกยิงขีปนาวุธเข้าไปชายแดนปากีสถาน-อิรัก-ซีเรีย จนมีการตอบโต้กันและความรุนแรงอาจบานปลาย 

ก่อนหน้านั้นประมาณเดือนตุลาคมอิสราอลส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าถล่มฉนวนกาซาเพื่อกำจัดกลุ่มติดอาวุธฮามาสซึ่งเข้าไปแหย่รังแตนก่อนจนมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 3 หมื่นคน เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดงจนทำให้สายเรือพาณิชย์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยุติการนำเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซโดยเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปกระทบต่อคู่ระวางเรือหรือ "Freight Charge" แนวโน้มปรับสูงเฉลี่ย 2 เท่ากระทบต่อต้นทุนการนำเข้าส่งออกและความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของโลกซึ่งมีความเปราะบางเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว

หากความขัดแย้งยังไม่ยุติและบานปลายอาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากทะเลแดง (Red Sea) เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกโดยเรือสินค้าที่ผ่านคลองสุเอซต้องผ่านทะเลแดง คลองสุเอซเป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมสามมหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติกมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก "ทะเลแดง" มีพื้นที่ 4.380 แสนตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นพื้นที่ 1.455 เท่าของอ่าวไทย มีความยาว 2,250 กม. และส่วนที่กว้างที่สุด 355 กม. ปากทางเข้าด้านมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องแคบ "บับ อัล แมนดาป (Bab Al Mandab Strait)" อยู่ระหว่างประเทศดีบูติกับเยเมน

เมื่อเข้าไปทะเลแดงต้องผ่านประเทศซูดาน ซาอุดีอาระเบียและอียิปต์และเข้าสู่คลองสุเอซ "Suez Canal " ระยะทางประมาณ 193.3 กม. เป็นเส้นทางลัดไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเชื่อมโยงท่าเรือสำคัญของสหภาพยุโรป เช่น ท่าเรือเจนัว (อิตาลี) ท่าเรือเลออาฟวร์ (ฝรั่งเศส) ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (เบลเยียม) ท่าเรือฮัมบูร์ก (เยอรมัน) จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเชื่อมต่อเส้นทางทรานส์แอตแลนติกไปถึงสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออก เช่น ท่าเรือนิวยอร์กและท่าเรือฟลอริดา วิกฤตความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในอาณาบริเวณนี้ จึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทย ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าและส่งออกในสัดส่วนที่สูง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สายเดินเรือเกือบทุกรายเปลี่ยนเส้นทางหลีกเลี่ยงคลองสุเอซด้วยการใช้เส้นทางผ่านแอฟริกาตะวันตกอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) เป็นแผ่นดินยื่นออกไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกระยะทางประมาณ 60 กม.จากเมืองเคปทาวน์เมืองหลวงของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การที่เรือสินค้า โดยเฉพาะเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์เปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อม จึงมีผลโดยตรงต่อระยะเวลาเดินทางที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว ส่งผลต่อต้นทุนค่าระวางเรือที่พุ่งขึ้น

กรณีเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าจากท่าเรือรอตเตอร์ดัม ตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยียม เป็นท่าเรือหลักของสหภาพยุโรป กับปลายทางท่าเรือสิงคโปร์ หากใช้เส้นทางคลองสุเอซระยะทางประมาณ 11,190 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ หากเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮประยะทางประมาณ 17,580 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-35 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ความเร็วและสภาพอากาศ ระยะทางจากท่าเรือหลักของยุโรปมาท่าเรือสิงคโปร์ หากใช้คลองสุเอซจึงมีระยะทางสั้นกว่าอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ประมาณ 6,390 กม. และใช้เวลาเดินทางมากกว่าประมาณ 14-15 วัน

สถานการณ์การปรับค่าระวางขนส่งสินค้าเส้นทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ช่วงต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2566 สายการเดินเรือที่อยู่ในประเทศไทยมีการปรับค่าระวางอย่างเป็นทางการไป 2 รอบ ค่าระวางเรือจากไทยส่งออกไปโซนยุโรป จากช่วงปลายปีที่แล้ว ราคาขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟิต 1,650 USD/TEU หลังมีเหตุการณ์ขัดแย้งในทะเลแดง เดือนมกราคมที่ผ่านมาปรับเป็น 2,800 USD/TEUS และเดือนกุมภาพันธ์ประกาศล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 USD/TEU เพิ่มขึ้น 2.42 เท่า 

ขณะที่เส้นทางไปสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกเดือนธันวาคม 2,350 USD/TEU เดือนกุมภาพันธ์ แจ้งปรับล่วงหน้าเป็น 4,450 USD/TEU เพิ่มขึ้น 1.89 เท่าจากข้อมูล เชิงลึกสายการเดินเรือแจ้งว่าโอกาสที่ค่าระวางเรือเดือนกุมภาพันธ์จะปรับสูงขึ้นไปจากอัตราดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง โดยเส้นทางไปสหรัฐอเมริกาอาจกระโดดขึ้นไปถึง 7,050 USD/TEU และเส้นทางไปยุโรปอาจเพิ่มเป็น 4,950 USD/TEU โดยจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากความขัดข้องในการขนส่ง เช่น ค่าความเสี่ยง (Transit Disruption Charge), ค่าธรรมเนียมปรับเส้นทางฉุกเฉิน (Contingency Adjustment Charge) สายการเดินเรือระบุว่าหากวิกฤตยังไม่ยุติจะยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก เช่น ค่าประกันภัย, ค่าบริหารจัดการเดินทางระยะไกล

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย ถึงแม้ว่าวิกฤตขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์อาณาบริเวณทะเลแดง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย จากที่กล่าวเห็นได้ว่าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนเส้นทางจากคลองสุเอซมาใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป เพิ่มระยะทางและเวลาขนส่งประมาณ 1 เท่า ขณะที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 1.89-2.42 เท่า อนาคตอันสั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นการปรับราคาสินค้า เช่น ปุ๋ยวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ซึ่งค่าระวางเรือจะแฝงตัวอยู่ในราคาสินค้า 

ขณะที่การส่งออกของไทย ส่วนใหญ่จะใช้เงื่อนไข "FOB" แต่ค่าระวางเรือที่ปรับสูงย่อมมีผลต่อกำลังซื้อ การปรับราคาสินค้าจะกระทบเป็นวงกว้างไปสู่ประเทศต่าง ๆ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งปีนี้มีความเปราะบางจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ จากวิกฤตระบาดโควิด- 19 ตามด้วยความขัดแย้งสงครามรัสเซีย- ยูเครน ซึ่งยังไม่จบทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและอียู ต้องทุ่มงบประมาณด้านอาวุธกระทบไปถึงความบอบช้ำทางเศรษฐกิจยังถูกซ้ำเติมด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส และตามด้วยความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดง

ฉากทัศน์วิกฤตทะเลแดงจะกระทบเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ กำลังซื้อของโลกจะหดตัว ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เล็กน้อยประมาณ 2.65% (ค่าเฉลี่ย IMF/World Bank) กำลังซื้อของโลกจะอ่อนแอซ้ำเติมกำลังการผลิตให้ลดลง เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัว ภาพที่จะเห็นต่อไป คือเงินเฟ้อของไทยและของโลกที่เริ่มชะลอตัวอาจสูงขึ้นนำไปสู่การลดลงของความเชื่อมั่นในการลงทุน 

อย่างไรก็ตามค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลโซนเอเชียไม่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นนัยราคาขนส่งยังไม่เปลี่ยนแปลงยังคงที่ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กช่วง 30 วันที่ผ่านมา ราคาเริ่มขยับอยู่ที่ 75.2 USD/บาร์เรล แต่ยังต่ำกว่าช่วงกลางเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตอิสราเอล-ฮามาส

สำหรับราคาน้ำมันดิบของไทยหน้าโรงกลั่น (E20 ช่วงสามสิบวันที่ผ่านมา ขยับตัวสูงขึ้นเพียง 0.56 บาท/ลิตร (ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยยูเครนส่งโดรนถล่มโรงน้ำมันรัสเซียในทะเลบอลติกและการเกิดพายุหิมะอาร์กติก ทำให้สหรัฐอเมริกาหนาวเป็นประวัติการณ์) ด้านเสถียรภาพค่าเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่า 1.01 บาท หรืออ่อนค่าประมาณ 2.91% ซึ่งใกล้เคียงสอดคล้องกับภูมิภาคเปรียบเทียบมาเลเซียเงินริงกิตอ่อนค่า 2.23% ในช่วงเวลาเดียวกันราคาทองคำแท่งโลกกลับมีแนวโน้มลดลงต่ำสุด 

ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าโลกยังไม่ให้น้ำหนักวิกฤตทะเลแดงจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นนัย อย่างไรก็ตามผลกระทบจากวิกฤตทะเลแดงในทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อประเทศไทยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความขัดแย้งจะใช้เวลายาวเพียงใดหรือมีผลข้างเคียงขยายตัวจนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย