กฎหมายใหม่คุม "คาร์ซีท" ต้องติดตั้งระบบ ISOFIX จ่อบังคับใช้เร็วๆนี้

02 ธ.ค. 2566 | 07:52 น.

"พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม" และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เผยเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่คุม "คาร์ซีท" สำหรับเด็ก ต้องติดตั้งระบบ ISOFIX เพิ่มสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ และคาร์ซีททุกประเภทต้องได้มาตรฐาน มอก.

กฎหมายคุม "คาร์ซีท" หรือ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ กำลังจะถูกยกระดีบอีกครั้ง ด้วยการเพิ่มให้คาร์ซีทต้องติดตั้งระบบ ISOFIX เพิ่มสำหรับรองรับรถยนต์รุ่นใหม่

โดยเรื่องนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการควบคุม “คาร์ซีท” หรือ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นสินค้าควบคุม เมื่อปี 2565 เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ 

โดยควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย ก่อน เพราะคาร์ซีทประเภทนี้สามารถใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าได้ จะได้ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า จากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งระบบ ISOFIX เพิ่มด้วย เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้งานในปัจจุบัน จะมีตัวใช้ยึดกับคาร์ซีทที่เรียกว่า ISOFIX กันมากขึ้น 

"จึงสั่งการให้ สมอ. เร่งรัดดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อควบคุมคาร์ซีททุกแบบทุกประเภทให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กในการโดยสารรถยนต์" 

ประเภทคาร์ซีทที่ควบคุม

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “คาร์ซีท” หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุมมี 2 ประเภท คือ 

  1. คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย
  2. คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX ซึ่งจะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ 
  3.  

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

มาตรฐานคาร์ซีทระบบเข็มขัดนิรภัย

นายวันชัย  ระบุอีกว่า มาตรฐานคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย จะมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ แบ่งน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม  ได้แก่

  1. น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม
  2. น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม
  3. น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม
  4. น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม
  5. น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม  

โดยคาร์ซีทที่ได้มาตรฐานจะต้องผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. การชนด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม.

โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก และจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้ 

 

คาร์ซีทแบบติดตั้งระบบ ISOFIX

สำหรับคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX จะแบ่งขนาดคาร์ซีทตามส่วนสูงของเด็ก และเพิ่มการทดสอบการชนด้านข้าง ที่ความเร็ว 24 กม./ชม. ด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน 

"ไม่ว่าจะเป็นแบบ ISOFIX หรือแบบเข็มขัดนิรภัย ก็จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง โดย สมอ. จะเร่งดำเนินการบังคับใช้ให้ได้ภายในปลายปี 2567 ตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" นายวันชัย กล่าว

 

เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท 

ฐานเศรษฐกิจ พาย้อนไปดูกฎหมายที่บังคับให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี เมื่อนั่งรถยนต์ต้องนั่งคารซีท ซึ่งระบุอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค.65 บัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์
  2. คนโดยสาร

(ก) คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์

(ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

(ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด

ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (2) (ข) และวิธีการ ป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด

 

รายละเอียด : พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565