สศช.เปิด 5 วิกฤตร้าย "สงครามอิสราเอล" เขย่าเศรษฐกิจไทย

01 ธ.ค. 2566 | 23:24 น.

สศช. เปิด 5 สัญญาณหลัก จากกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส กระทบเศรษฐกิจไทย ชี้ตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง เช็ครายละเอียดผลกระทบทั้งหมดแบบเจาะลึกที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสว่า ปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยกลไกการส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่สำคัญประกอบด้วย

1. ผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจอิสราเอลและประเทศที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย 

(1) ผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศด้านการส่งออก จากข้อมูลในปี 2565 พบว่า การส่งออกของไทยไปยังพื้นที่บริเวณที่มีความขัดแย้ง 6 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล ปาเลสไตน์ อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน และซีเรีย มีมูลค่า 2,313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.8% ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด ส่วนการนำเข้าของไทย มีมูลค่า 797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.3% ของมูลค่าการน่าเข้าของไทยทั้งหมด 

หากความขัดแย้งลุกลามสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยการส่งออกสินค้าของไทยในประเทศสำคัญในตะวันออกกลาง คิดเป็น 2.8% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด ในส่วนของการนำเข้า คิดเป็น 10.7% ของการน่าเข้าของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงก๊าซธรรมชาติ 

(2) ผลกระทบด้านการลงทุนโดยตรงจากตะวันออกกลางมายังไทยอาจจะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีสัดส่วนที่ต่ำ 

(3) ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด สะท้อนว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยวทั้งหมด จึงอาจส่งผลต่อรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย

 

สศช.เปิด 5 วิกฤตร้าย \"สงครามอิสราเอล\" เขย่าเศรษฐกิจไทย

 

2. ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน

ทั้งนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคา LPG และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้าภายในประเทศและต้นทุนการผลิตในระยะถัดไป คือ 

(1) ราคาน้ำมัน หากความขัดแย้งมีการลุกลามหรือยืดเยื้อ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในประเทศไทยโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลยังคงถูกตรึงราคาไว้จากการสนับสนุนของกองทุนน้ำมัน

ขณะที่ความสามารถในการพยุงราคาน้ำมันในประเทศก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสาขาการผลิตที่พึ่งพิงพลังงานในสัดส่วนสูง เช่น สาขาการขนส่งฯ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการไฟฟ้า ก๊าซฯ เป็นต้น 

(2) ราคา LPG หากสถานการณ์ขยายขอบเขตออกไป ราคา LPG อาจจะมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งฐานะของกองทุนน้ำมันที่น่ามาอุดหนุนราคา LPG ยังคงขาดทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้การผยุงราคา LPG มีข้อจ่ากัดในการด่าเนินการมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคา LPG จะส่งผลต่อภาคการขนส่งและภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ

3.ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 

(1) ราคาปุ๋ย ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ย (รวมปุ๋ยที่มีแร่โพแทสเซียม) จากอิสราเอลในปี 2565 ทั้งสิ้น 64.7 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด ซึ่งหากสงครามกระจายวงกว้าง ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังนำเข้าปุ๋ยจากกาตาร์เป็นสัดส่วนถึง 7% ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด 

(2) ราคาเหล็กและทองแดง สถานการณ์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งราคาเหล็กและทองแดงมากนัก

4. ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก

สถานการณ์ความไม่สงบจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นักลงทุนต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน โดยมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์สำคัญทั่วโลก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลัก ๆ ปรับตัวลดลง 

เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งผลให้มีเงินลงทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายออกจากประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยนักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 

ทั้งนี้ ในระยะสั้น ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุน และการไหลออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศดังกล่าว

5. ผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความขัดแย้งส่งผลต่อการขนส่งพลังงานผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Strait ofHormuz) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอิหร่านและโอมานซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่ออ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดียอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะต่อการขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากประเทศในอ่าวเปอร์เซีย