เอกชนจี้ “เศรษฐา”ปลุก ศก.โค้งท้าย ฟื้น “ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง”

15 ก.ย. 2566 | 05:06 น.

เอกชนกระทุ้งรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายปี 66 ททท. ดัน Quick win ดึงต่างชาติเที่ยวไทยทะลุเป้า 28 ล้านคน ขอขยายวีซ่าเป็น 45 วัน บิ๊กค้าปลีกแนะคัมแบ็ค “ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง” กระตุ้นกำลังซื้อ หอการค้าฯ เสนอ “เศรษฐา ”ลุยโรดโชว์ต่างประเทศ ขยายการค้า-ดึงการลงทุน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่นัดแรก มีมติมาตรการในหลายเรื่อง ที่ให้ทำทันที โดยที่จะมีผลต่อการลดรายจ่าย เพิ่มเงินในกระเป๋า และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่จะมีผลต่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ได้แก่ การลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นต้น ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ร่วมหารือเพื่อขอความร่วมมือในการลดราคาสินค้าทั่วประเทศปลายปีนี้ แต่มาตรการต่าง ๆ ข้างต้นภาคเอกชนมองว่ายังไม่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีข้อเสนอภาครัฐรับไปพิจารณาดำเนินการ

  • Quick win ดูดนักท่องเที่ยว

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ททท.ได้ร่วมหารือกับสมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย เพื่อจัดทำมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วน (Quick win) เสนอรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 25-28 ล้านคนในสิ้นปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย จากที่เข้ามาแล้วกว่า 18 ล้านคน ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ต้องทำเพิ่มอีก 10 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 ล้านคน

ทั้งนี้แผน Quick win จะเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.กระตุ้นการตลาดส่งเสริมการขาย โดยททท.จะทำตลาดเน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ การส่งเสริมการขายทั้งโรดโชว์ เทรดโชว์ในประเทศเป้าหมาย การจัดอีเว้นท์ระดับนานาชาติ เช่น วิจิตรเจ้าพระยา การผลักดัน Soft Power หนุนท่องเที่ยว การดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

เอกชนจี้ “เศรษฐา”ปลุก ศก.โค้งท้าย ฟื้น “ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง”

2.มาตรการปลดล็อกอุปสรรคการเดินทาง เสริมสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งนอกจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและฅคาซัคสถานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 เป็นกรณีพิเศษ 5 เดือน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัจจัยบวกสนับสนุนให้มีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7 แสนคนต่อเดือน คาดจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยปี 2566 รวมกว่า 4.2 ล้านคน ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคนแล้ว

สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศ อื่น ๆ ยังมองมาตรการวีซ่าในหลายแนวทางที่ต้องหารือในรายละเอียดต่อไป อาทิ เรื่องของ Multiple Entry Visa (ขอวีซ่าเข้าไทยแล้วจะสามารถเข้า-ออกไทยกี่ครั้งก็ได้ ภายในระยะเวลาที่เราให้เขาอยู่ในไทย) การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า หรือการขยายเวลาพำนักในไทย เป็นต้น

3.มาตรการส่งเสริมระยะยาว ในการช่วยเหลือและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในการเตรียม ความพร้อมตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ และกระแสความยั่งยืน โดยในปี 2567 นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 ล้านล้านบาท

  • ชง 9 มาตรการช่วยโรงแรม

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ภาคธุรกิจโรงแรมได้นำเสนอแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะสั้น (Quick Win) ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับปัญหาและภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้รัฐบาลพิจารณาใน 9 เรื่องหลัก ได้แก่

1.การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยขอให้มีการเชื่อมโยงแรงงาน กับนายจ้างภาคการโรงแรม-ท่องเที่ยว โดยแบ่งหมวดการค้นหาให้ชัดเจนใน app ไทยมีงานทำ.com ของกระทรวงแรงงาน และขอให้มีหน่วยงานกลาง ในการเชื่อมโยงภาคการศึกษา ทั้งอาชีวศึกษา และปริญญาตรี ในการประสานงานทวิภาคี และการฝึกงานในโรงแรม

2.การเพิ่มแรงงานต่างด้าว และค่าจ้างแรงงาน ซึ่งแรงงานที่ผลักดันผ่านหอการค้า เรื่องทำ MOU แรงงานต่างด้าว หลากหลายประเทศมากขึ้น คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย 3. ขอขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยว จาก 30 วันเป็น 45 วัน และ VOA (Visa On Arrival) จาก 15 วัน เป็น 30 วัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวอยู่ได้นานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น

4.การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยขอปรับอัตราค่าอาหารในการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น 40 % และปรับค่าเช่าที่พักในการฝึกอบรมเพิ่มอีกวันละ 200 บาท/วัน/คน 5. เรื่อง “เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นเมืองรอง” 6.ให้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายที่พักไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสิ้นปี เฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

7.ลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการโรงแรม อาทิ ค่าไฟฟ้า และค่าแก๊ส 8. เปลี่ยนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อิงกับมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน เป็นภาษีโรงเรือน ที่อิงรายได้ เหมือนเดิม 9. การกระตุ้นให้มีจัดประชุมสัมมนาในส่วนของภาครัฐ โดยออกนโยบายให้มีการประชุมสัมมนาข้ามจังหวัด เพื่อเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ

  • ขอลดภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า นโยบายระยะสั้นของรัฐบาลที่ออกมา ถือว่าถูกทางแล้ว ขณะที่ข้อเสนอแนะคือ มาตรการกระตุ้นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อจะทำอย่างไร และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ จะทำอย่างไร ซึ่งส่วนนี้การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทน่าจะตอบโจทย์ได้ดี

“รัฐบาลควรพูดคุยกับภาคเอกชน สมาคมต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เช่น การใช้จ่ายเงินดิจิทัล จะทำอย่างไรให้สำเร็จ มีอิมแพ็คหมุนเวียน 3-5 เท่าตามที่ภาครัฐวางไว้ นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นโอเพ่นอีโคโนมี่ การเปิดให้สินค้าต่าง ๆ เข้ามาจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ SME ไทย รวมถึงทำอย่างไรให้ภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยถูกลง เพื่อให้สินค้าแบรนด์เนมที่วางจำหน่ายในไทยมีราคาที่เหมาะสมและแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

  • คัมแบ็คช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สนับสนุนให้รัฐบาลนำทั้ง 2 มาตรการ ทั้งโครงการช้อปดีมีคืนและคนละครึ่งกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มเม็ดเงินและสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการมีความต่างกันในกลุ่มลูกค้า โครงการช้อปดีมีคืน เหมาะกับคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ และต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คือเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 310,000 บาทต่อปี และต้องการซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และสินค้าและบริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนโครงการคนละครึ่ง วัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ด้วยการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ โดยรัฐบาลจ่ายค่าซื้อสินค้าให้ 50% ไม่เกินวันละ 150 บาทต่อคน ตลอดทั้งโครงการให้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท เหมาะกับคนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็ก, ตลาด, ร้านโชห่วย, หาบเร่ ฯลฯ เป็นประจำ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน

  • ดึง “เศรษฐา”โรดโชว์นอก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่เศรฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่รวมทั้งเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ล่าสุด ณ เดือนกันยายนเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.5-3.0% ทั้งนี้นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศทำทันทีที่เอกชนเห็นด้วย เช่น การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อไม่ส่งต่อไปยังผู้บริโภค และมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีที่จะช่วยต่อยอดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ขอเสนอเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีโรดโชว์คู่กับภาคธุรกิจในการเปิดตลาดต่างประเทศ เริ่มในตลาดเดิมก่อน เพื่อขยายการค้า และดึงการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี(FTA) ที่ไทยมีอยู่แล้วให้มากขึ้น ส่วนการดึงดูดการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอและอีอีซี อยากให้รัฐบาลออกมาให้ความมั่นใจและให้ความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร เพราะส่วนนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3923 วันที่ 17 -20 กันยายน พ.ศ. 2566