"คมนาคม"ชงบิ๊กโปรเจ็กต์ เฉียด2ล้านล้านเข้าครม.ใหม่

25 มิ.ย. 2566 | 08:48 น.

กระทรวงคมนาคม ดันบิ๊กโปรเจ็กต์ยุคบิ๊กตู่ เฉียด 2 ล้านล้านโยนครม.ใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จับตา ตั้งรัฐบาล เร็วขึ้น รับเหมาเฮชิงประมูล

 

นับถอยหลัง การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ และประเมินว่า จะจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจประเทศหลังตกอยู่ในช่วงสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติเม็ดเงินกระจายลงระบบฐานรากได้ ท่ามกลางเครื่องยนต์สำคัญดับวูบลง อย่างส่งออก อสังหาริมทรัพย์ มีเพียงภาคท่องเที่ยวตัวเดียวที่ฟื้นตัวดี และหลายฝ่ายมองว่าไม่เพียงพอ ดังนั้นเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐจึงเป็นหัวใจที่ทุกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องยนต์ตัวใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการหมุนเวียน ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อจากรัฐบาลประยุทธ์

 ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่ทัน รวมมูลค่าเกือบ2ล้านล้านบาท ทั้งโครงการใหม่และโครงการที่เคยอนุมัติแล้วแต่ยังมีขั้นตอนที่ต้องเข้าครม.อีกรอบ ทำให้ปัจจุบันมีหลายโครงการสำคัญต้องเตรียมส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ อย่างโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดัน 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท 2. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,616 ล้านบาท และ 3.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการฯหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการ 2570

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 วงเงิน 2.74 แสนล้านบาท ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าโครงการฯ ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งเชื่อมโยงฐานการผลิตและการเดินทางระหว่างภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวม 7 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท

2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท

3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท

4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท

5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท

6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท และ

7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 6.66 พันล้านบาท

เช่นเดียวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยส่วนแรกได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เรียบร้อยแล้ว ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน คาดพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมนี้

 “หลังจากนั้นคาดว่าภายในปี 2566 จะแจ้งให้เอกชนเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ส่วนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 และปัญหาความขัดแย้งในประเทศรัสเซีย ยูเครน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา มีความคืบหน้าเป็นลำดับ”

รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ที่รฟท.ระบุว่า ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 3 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม.

ปัจจุบันทางกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV ผู้รับจ้าง ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ China Railway Engineering Corporation ได้ยืนยันราคาประมาณ 9.3 พันล้านบาทมายังรฟท. แล้ว คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาในวันที่ 22 มิ.ย.66 ก่อนจะลงนามสัญญากับเอกชนต่อไป

 ทั้งนี้สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุด อยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญา หากแล้วเสร็จจะสามารถลงนามสัญญาจ้างกับ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ผู้รับจ้างสัญญาดังกล่าว วงเงิน 10,325 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้ในร่างสัญญากำหนดเป็นเงื่อนไขให้สามารถสร้างทางไปได้ก่อน ในระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งเพิ่งจัดทำแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรายงาน HIA ไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ

 ด้านสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ และขณะนี้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะเอกชนคู่สัญญา ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างร่วม ซึ่งทาง รฟท. สอบถามคำตอบไปทุกเดือน และเดือน มิ.ย.นี้ จะสอบถามไปอีก โดยแนวโน้มเอกชนก็ยังจะเป็นผู้ก่อสร้างให้ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีกว่าที่จะให้ รฟท. มาดำเนินการก่อสร้างเอง เพราะต้องนับหนึ่งใหม่ และจากที่คำนวณไว้เบื้องต้นต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 9 พันล้านบาท จากวงเงินเดิมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่หนี้โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ทั้งส่วนงานโยธาและหนี้เอกชน ต้องได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ ขณะนี้ได้มีการเสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนทางกฎหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับครม. ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาด้วย

 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการผลการศึกษาโครงการฯ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในรูปแบบ PPP Net cost

 รายงานข่าวจากรฟม. กล่าวว่า ตามแผนขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอผลศึกษาโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาเพื่อเห็นชอบดำเนินโครงการฯ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (PPP) ต่อไป

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (แลนด์บริดจ์) สนข. เตรียมเสนอหลักการเพื่อดำเนินโครงการฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่และครม.ชุดใหม่ภายในปีนี้ โดยที่ผ่านมาโครงการฯได้เสนอต่อครม.ชุดเดิมแล้ว แต่ถูกปัดตกก่อน เนื่องจากมีการยุบสภา

  หากได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและครม.ชุดใหม่แล้วจะดำเนินการจัดทำโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ หลังจากนั้นจะดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPPและเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

 ส่วนความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 14,670 ล้านบาท รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า หลังจากกทพ.เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ พบว่าไม่มีเอกชนรายใดสนใจร่วมลงทุนนั้น ล่าสุดกทพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งกลุ่มภาคเอกชนที่ซื้อซองการประมูลและไม่ได้ซื้อซองการประมูลโครงการฯ ว่ามีความเห็นหรือปัญหาใดที่ไม่จูงใจภาคเอกชนแล้ว

 หลังจากนี้กทพ. จะต้องปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้สอดคล้องตามกรอบครม. พิจารณาเห็นชอบหลักการฯ ใช้ระยะเวลาภายใน 1-2 สัปดาห์ หากเสียงส่วนใหญ่จากภาคเอกชนที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เกินกรอบที่ ครม.เห็นชอบ ต้องรายงานต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณา และเสนอกลับมาที่กทพ.พิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการฯใหม่ ก่อนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม. ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566

 แหล่งข่าวในวงการผู้รับเหมาสะท้อนว่ารัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมองว่าคงหนีไม่พ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นพระเอกตลอดกาล

บิ๊กโปรเจ็กต์รอรัฐบาลใหม่