พรรคการเมือง โหมบิ๊กโปรเจ็กต์ บูมเศรษฐกิจหัวเมืองใหญ่

02 พ.ค. 2566 | 01:30 น.

พรรคการเมือง ชูนโยบายปูพรมลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ทั่วไทย โฟกัส กทม. หัวเมืองใหญ่ ระบบรางโครงข่ายถนน  ปมสายสีส้ม-สีเขียวยังร้อน คมนาคม-รับเหมา หนุนลงทุนต่อเนื่อง

 

เมกะโปรเจ็กต์ เป็นหนึ่งในไฮไลต์ สำคัญที่ทุกรัฐบาลมักใช้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ   เพราะนอกจากจะสร้างความเจริญในพื้นที่แล้ว ยังกระจายเม็ดเงินหมุนเวียน ลงสู่ระบบฐานราก เกิดการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้(14 พฤษภาคม 2566) ก็เช่นเดียวกัน  พรรคการเมือง ค่ายเล็กใหญ่ต่าง ใช้นโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เรียกคะแนนเสียงกันอย่างถ้วนหน้า 

 

 เริ่มจากพรรคก้าวไกลที่ เป็นด่านหน้าคัดค้านโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทที่อาจจะไม่ชอบมาพากล และประกาศว่าหาก เข้ามาบริหารบ้านเมืองตรวจสอบและเปิดประมูลใหม่ รวมทั้งไม่ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ในขณะนี้   

 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า  สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทานในปี 2572 ไม่ควรขยายสัญญาตามแต่ควรนำเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุนให้ถูกต้องก่อนปี 2572 และประมูลใหม่ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ขณะพรรคประชาธิปัตย์ ฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่จังหวัดภาคใต้ ส่งผลให้ มุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลงหัวเมืองใหญ่ทางภาคใต้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนปลายด้ามขวาน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง

ได้แก่ โมโนเรล แก้ปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ขึ้นมาเมื่อปี 2536

นอกจากนี้ยังมีมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา โดยที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ และได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางแรกของประเทศไทยคือเส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี เมื่อปี  2537 และอีกโครงการสำคัญ ที่วางแผนดำเนินการคือสะพานเชื่อมเกาะสมุย 

เช่นเดียวกับพรรคชาติพัฒนากล้า ฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ทางภาคอีสาน และมีนโยบายไฮไลต์ปูพรมโครงข่าย มอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ 2,000 กิโลเมตร โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาสร้างมอเตอร์เวย์นครราชสีมา-หนองคาย

อีกทั้งเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนเขตเทศบาลนครราชสีมาแก้ปัญหาจราจร และพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ยูเนสโก้เชื่อมมรดกโลกเขาใหญ่-ปากช่องเป็นต้น เพราะเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานช่วยดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่สร้างการจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 

ด้านพรรคภูมิใจไทย อีกพรรคการเมืองใหญ่ ที่ครองพื้นที่ภาคอีสานรวมถึงเขตกรุงเทพมหานคร  สะท้อนว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะจากรถใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมประเทศด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

 ทั้งนี้การให้บริการรถขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีแผนที่จะดำเนินการไม่เกิน 3 ปีในการเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าๆ หรือรถร้อนมาเป็นรถไฟฟ้า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ที่สำคัญยังมีแผนสานฝันโครงการแลนด์บริดจ์ และรถไฟฟ้าสายใหม่ส่วนต่อขยาย อีกทั้งเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม อำนวยความสะดวกประชาชนหลังจากล่าช้ามานาน

 ขณะพรรคเพื่อไทยพรรคการเมืองใหญ่เป้าหมายแลนด์สไลด์ที่มีฐานเสี่ยงทางภาคอีสานและภาคเหนือ   มีนโยบายเพิ่มคุณภาพการเดินทางที่ดีขึ้นของผู้มีรายได้น้อย และผู้ใช้รถไฟชั้นสามทั่วประเทศ รวมถึงยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำได้อย่างแท้จริงพร้อมสร้างระบบฟีดเดอร์ ที่อำนวยความสะดวกเชื่อมโยงแต่ละ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เส้นทาง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ และเพิ่มความเร็วให้ได้เป็น 200 กิโลเมตรต่อชัวโมงเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ

 ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่แพ้กัน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้าพรรคฯ และกรรมการและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า   พรรคเน้นพัฒนาระบบขนส่งเข้าถึงเท่าเทียม โดยใช้วงเงิน 5.6หมื่นล้านบาท ต่อปีและขยายเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองหลักทุกภูมิภาค 500กิโลเมตรต่อปี ส่วนสายสีเขียว มองว่าหากไม่ต่อสัญญาขึ้นอยู่กับข้อตกลงและรัฐบาลมีงบประมาณจ่ายหรือไม่ หรือหากไม่ต่อสัญญาควรคืนเงินให้เอกชนจะได้ไม่เกิดข้อพิพาทเอกชน

  ทางด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ  ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  เน้นสานต่อนโยบายเดิมหากได้เป็นรัฐบาลเช่นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมืองการบิน อู่ตะเภา รถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย  ขยายขีดความสามารถ ท่าเรือแหลมฉบัง ยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองให้เป็นสมาร์ท แอร์พอร์ตขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ทั่วไทย และรถไฟฟ้าสายใหม่ ในเขตกทม.-ปริมณฑลให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เป็นต้น

 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกพรรคการเมืองให้ความสนใจลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะหากมีความต่อเนื่องว่า การดำเนินโครงการจะไม่สะดุดและเป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชน รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

รายงานข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สะท้อนว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้าจัดตั้งรัฐบาล หากมีการประมูลโครงการการเบิกจ่าย ต่อเนื่อง มองว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคท่องเที่ยว ที่กลับมาฟื้นตัวตามปกติ

โหมหาเสียงลงทุนโครงการขนาดใหญ่