ผลงานที่ “นายกฯลุงตู่” ทิ้งไว้

22 มิ.ย. 2566 | 21:15 น.

บทบรรณาธิการ ผลงานที่ “นายกฯลุงตู่” ทิ้งไว้ 

ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสู่รัฐบาลใหม่ เมื่อกกต. รับรองส.ส. ครบทั้ง 500 คนสดๆ ร้อนๆ วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่ “บิ๊กตู่” ทิ้งทวนผลงานชิ้นโบว์แดง กดปุ่มเดินรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร แบบเสมือนจริง ครบทั้ง 23 สถานี

ในการนี้ “บิ๊กตู่” พร้อมคณะได้นั่งทดสอบบนขบวนเที่ยวปฐมฤกษ์ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โมโนเรลสายแรกของเมืองไทย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ในนามบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM)  ผู้รับสัมปทาน และตรวจความพร้อมก่อนเปิดบริการประชาชน เต็มทั้งระบบ แม้จะล่าช้าไป 2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 แต่รถไฟฟ้าเส้นนี้ มาเติมเต็มได้ถูกที่ถูกเวลา   

เพื่อช่วยให้ประชาชน คนลาดพร้าว บางกะปิ ลำสาลี ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ ไม่ต้อง ทนอึดอัดหงุดหงิด กับสถานการณ์รถติดมหาโหดบนถนนลาดพร้าว และแยกที่ถูกขนานนาม “ลำสาหัส” (ลำสาลี) อีกต่อไป  

ผลงานชิ้นโบว์แดงของ “บิ๊กตู่” ได้สร้างรอยยิ้ม เสียงชื่นชม และความตื่นตาตื่นใจ ให้กับ ผู้คนที่มาใช้บริการสายสีเหลือง แบบเต็มๆ ในวันแรก ตั้งแต่ต้นทาง สถานีลาดพร้าว บริเวณจุดเชื่อมต่อ MRT ใต้ดินสายสีนํ้าเงิน ซึ่งเรียกคนได้มากทีเดียว 

คาดการณ์ว่าเมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จะมีคนมาใช้บริการ 2 แสนคนต่อวัน ค่าบริการเริ่มเก็บ 15-45 บาท ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป ที่ครม. รักษาการจะทำหน้าที่เคาะค่าโดยสารออกมาเร็ว ๆ นี้ 

อีกเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34 กิโลเมตร 30 สถานี ผลงานรัฐบาล “บิ๊กตู่” อีกเช่นกันที่จะเปิดนั่งฟรีปีหน้า แม้จะช้าแต่ไม่นานเกินรอ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ “บิ๊กตู่” ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) แต่ปัจจุบันประชาชนยังนั่งฟรี รอกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลใหม่หาจุดสมดุลเก็บค่าโดยสาร

รัฐบาล “บิ๊กตู่” สร้างผลงานพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานไว้มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนๆ ทั้งอนุมัติก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ติดหล่มมากว่า 10 ปี การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่มีทั้งรถไฟความเร็วสูง มหานครการบินและสนามบินอู่ตะเภา แม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก ที่รัฐบาลใหม่ต้องสานต่อ ยังไม่รวมรถไฟความเร็งสูงไทย-จีน โครงข่ายถนน ทางพิเศษ มอเตอร์เวย์ อีกมากมาย

การปูพรมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้ง บก-ราง-นํ้า-อากาศ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ได้วางรากฐานกลิ่นอายความเจริญจนหอมฟุ้ง บูมเศรษฐกิจทุกทิศทั่วไทยไว้อย่างเสร็จสรรพแล้ว!!!