แก้กฎหมายฟันอาญา “นิติบุคคล” ทำผิดเจอโทษปรับ จำคุก เลิกกิจการ

07 มิ.ย. 2566 | 02:16 น.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ปรับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคล ใครฝ่าฝืนเจอโทษหนัก ทั้งปรับและจำคุก เลิกกิจการ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคลและโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลไว้ในประมวลกฎหมายอาญา โดยร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา แล้ว

สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  มีหลักการและเหตุผล คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคลและโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล (เพิ่มมาตรา 18/1 มาตรา 18/2 มาตรา 59/1 และมาตรา 196/1)

โดยระบุเหตุผลว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดทางอาญา สำหรับนิติบุคคลและโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลไว้อย่างชัดเจนแยกจากบุคคลธรรมดา

จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคลและโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรในการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษทางอาญาที่เหมาะสมกับสภาพของนิติบุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ภาพประกอบข่าว ปรับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคล

สาระสำคัญของกฎหมาย 

ให้เพิ่มข้อความในมาตรา 18/1 และ 18/2 อยู่ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลได้แก่ ปรับและริบทรัพย์สิน และหากไม่มีกฎหมายบัญญัติโทษสำหรับนิติบุคคลไว้โดยเฉพาะ ให้ลงโทษ นิติบุคคลนั้นโดยใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

มาตรา 18/1

  • ในกรณีความผิดที่มีแต่โทษจำคุกหรือประหารชีวิต ให้ลงโทษนิติบุคคล โดยเปลี่ยนโทษจำคุกหรือประหารชีวิตเป็นโทษปรับไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • ในกรณีความผิดที่มีโทษจำคุกและมีโทษปรับรวมอยู่ด้วย หรือความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้ลงโทษปรับนิติบุคคลไม่เกิน 5 เท่าของระวางโทษปรับที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้น เว้นแต่ความผิดที่มีระวางโทษปรับอย่างอื่นที่ไม่ใช่การกำหนดอัตราค่าปรับเป็นจำนวนแน่นอน ให้ลงโทษปรับนิติบุคคลตามบทบัญญัติที่กำหนดระวางโทษปรับไว้เช่นว่านั้น

ส่วนอายุความคดีอาญาสำหรับนิติบุคคล ให้เป็นไปตามระวางโทษเดิมตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 18/2
เมื่อศาลพิพากษาลงโทษนิติบุคคลตามมาตรา 18/1 วรรคสอง และศาลได้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์และการกระทำของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีคำขอหรือไม่ ศาลอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามควรแก่กรณี ดังต่อไปนี้ได้

  • ให้เลิกนิติบุคคล ถ้านิติบุคคลนั้นตั้งขึ้นเพื่อการกระทำความผิด หรือกระทำการบิดเบือนไปจากขอบวัตถุประสงค์ของกิจการเพื่อการกระทำความผิด
  • ปิดสถานประกอบการหรือระบบคอมพิวเตอร์หรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้กระทำความผิด เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี หรือเป็นการถาวร
  • ห้ามระดมทุนจากประชาชนทั่วไป เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีหรือเป็นการถาวร
  • ห้ามเข้าประมูลงานหรือรับสัมปทานของรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีหรือเป็นการถาวร
  • ให้ประกาศหรือเผยแพร่คำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วนในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่ายเป็นการทั่วไปหรือในท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนิติบุคคลนั้นหรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนทราบมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยให้นิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
  • ห้ามประกอบกิจการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ได้กระทำไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีหรือเป็นการถาวร

 

ภาพประกอบข่าว ปรับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับนิติบุคคล

 

หน่วยงานของรัฐได้ยกเว้น

พร้อมกันนี้ยังกำหนด ให้เพิ่มความในมาตรา 59/2 โดยนิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลได้กระทำการภายในขอบวัตถุประสงค์ตามอำนาจหน้าที่ของตนและเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล

นิติบุคคลซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐไม่ว่าในรูปแบบอื่นใด แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจไม่ต้องรับผิดทางอาญา เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น รวมทั้งนิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ ไม่ทำให้บุคคลซึ่งกระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้นพ้นความรับผิด

กำหนดโทษหนักหากฝ่าฝืนคำสั่ง

นอกจากนี้ยังให้เพิ่มความตามมาตรา 196/1 โดยนิติบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งสั่งไว้ในคำพิพากษาตามมาตรา 18/2 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ถึง 3 แสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นิติบุคคลที่กระทำความผิดได้รับหรือพึงได้รับผลประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนั้น ให้ปรับไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่นิติบุคคลได้รับหรือพึงได้รับไว้ ทั้งนี้ ให้ปรับไม่ต่ำกว่าโทษขั้นต่ำตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ