svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

คลัง หัก กทม. เมินรื้อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยันไม่ใช่กฎหมายล้าสมัย

31 พฤษภาคม 2566

คลังหักกทม. ปมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยืนกรานไม่ใช่กฎหมายล้าสมัย หลัง “ชัชชาติ” ประกาศให้รัฐบาลใหม่ ทบทวนการจัดเก็บ ส่อส่งสัญญาณ กลับไปใช้กฎหมายเก่าคาดรายได้ใกล้เคียงปี62 ที่1.5หมื่นล้าน

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง เมื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ประกาศให้รัฐบาลใหม่ทบทวนและดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณ ให้กลับไปใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ โดยสะท้อนตัวอย่าง สำนักงานเขตพญาไท เรียกเก็บภาษีห้างสรรพสินค้า เดิมเสียภาษี 10.7 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1.08 ล้านบาท ลดลงถึง 10 เท่า

นายชัชชาติ อ้างว่าเดิมที การคำนวณ ภาษี ห้างสรรพสินค้า จะพิจารณาที่ยอดขายและค่าเช่า โดยนำตัวเลขที่ได้มาเรียกเก็บที่ 12.5% แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับไม่คิดตามรายได้ แต่คำนวณ ตามมูลค่าที่ดิน แทน เช่นเดียวกับอาคารเก่าจะมีค่าเสื่อม ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงตามไปด้วย โดยนายชัชชาติมองว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากต้องเสียภาษีมาก แต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น

คลังหักกทม. ทบทวนภาษีที่ดิน

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่ผู้ว่าฯกทม.นำตัวอย่างการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอ้างห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตพญาไทว่ารายได้ลดลงเมื่อเทียบกับภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเดิมยังจัดเก็บได้สูงกว่า มองว่าผู้ว่าฯกทม.อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน

เพราะขณะนั้นยังได้รับการบรรเทาหรือแบ่งชำระ จากมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนเจ้าของที่ดิน ตั้งแต่ปี 2563-2565 หรืออาจอยู่ในช่วยลดหย่อนภาษีลง 90% ช่วงสถานการณ์โควิด ปี 2563-2564

กระทรวงการคลังเชื่อว่ากทม.จะกลับมามีรายได้ใกล้เคียงกับภาษีเก่าปี 2562 ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปีเมื่อจัดเก็บได้ในอัตราเต็ม 100% และอ้างอิงไปตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 

อย่างไรตามยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่แก้ไขหรือทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะมั่นใจว่า เป็นกฎหมายที่ทันสมัย และเชื่อว่า ไม่กลับไปใช้กฎหมายที่ล้าสมัยอย่างแน่นอน ที่สำคัญกว่าจะผลักดันกฎหมายบังคับใช้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อต้องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน

 แหล่งข่าวกระทรวงการคลังอธิบายต่อว่า สาเหตุที่ภาษีที่ดินเรียกเก็บห้างสรรพสินค้า เฉพาะมูลค่าที่ดิน และโครงสร้างอาคารในอัตราพาณิชย์ 3% เพราะ ไม่ต้องการเรียกเก็บซ้ำซ้อน กับภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนในอดีต ที่ต้องนำยอดรายได้มารวมในการคำนวณภาษีและในที่สุดเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายนั้นต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลซ้ำอีก

 “มูลค่าที่ดินและโครงสร้างอาคารทำเลใจกลางเมือง ย่อมมีราคาสูง ตามการปรับขึ้นของราคาที่ดิน โดยเฉพาะราคาประเมินฯ ของกรมธนารักษ์ ที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงในการเรียกเก็บรายได้ ต้องปรับขึ้นในทุก4 ปี เชื่อว่า รายได้กทม.จะปรับสูงขึ้นอย่างแน่นอน หากเจ้าหน้าที่หมั่นตรวจสอบและลงพื้นที่ติดตาม”

ในทางกลับกัน กทม.จะได้อานิสงส์จากคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นจำนวนมากในหลายพื้นที่เขตแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่จากการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินที่เพิ่มขึ้นรวมถึง ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์และโครงการที่อยู่อาศัยค้างสต็อก เป็นต้น ที่กฎหมายเก่าไม่เคยเรียกเก็บ

สศค.ยันภาษีที่ดินเหมาะสม

สอดคล้องนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สะท้อนข้อเท็จจริง ภาษีโรงเรือนฯ ใช้ค่ารายปี (จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ) เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ และทำให้เกิดปัญหาในการประเมินค่ารายปี และมีการจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่ที่สูงถึง 12.5% ของค่ารายปีสำหรับภาษีบำรุงท้องที่จะใช้ราคาปานกลางของที่ดิน

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาราคาปานกลางของที่ดินกำหนดประจำปี พ.ศ. 2521-2524 มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ และมีอัตราภาษีมากถึง 34 ขั้น ภาษีที่ดินฯ จึงถูกนำมาใช้แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา

เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน โดยภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีฐานทรัพย์สิน มีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่พิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

 โดยใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพก็จะถูกจัดเก็บภาษีด้วย การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จึงทำให้ผู้เสียภาษีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำ และกรณีผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกัน ขนาดเท่ากัน และมีการใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่ากัน จึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม

 ขณะในปี 2563-2565 ช่วงระยะ 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ได้แก่ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) และการบรรเทาการชำระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีภาระภาษีที่ดินฯ สูงกว่า ภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 (ค่าภาษีปี 2562)

โดยให้ชำระภาษีที่ดินฯ เท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกด้วย 25%  50% และ 75% ของส่วนต่างของค่าภาษีปี 2562 กับค่าภาษีที่ดินฯ ในปี 2563, 2564 และ 2565 รวมถึงในปี 2563-2564 มีการลดภาษี 90% เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

คลังเคยปฏิเสธ กทม.โขกภาษี

  ย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2565 นายชัชชาติ เคยทำหนังสือ หารือไปทางกระทรวงการคลังแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อขอพิจารณา ขอปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า

ในกรณีเจ้าของนำที่ดินมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะปรับอัตราเพิ่มจากปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% เป็นเก็บเต็มเพดาน 0.15% หรือจากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ในเบื้องต้นไม่สามารถดำเนินการได้ หลังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณาว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำกับพื้นที่เกษตรบริเวณชานเมืองของกทม.และขัดต่อกฎหมายภาษีที่ดินรวมถึงกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

รายได้จากภาษีที่ดิน