"สมรสเท่าเทียม" ก้าวไกลลุยทันที เตรียมคลอดกฎหมาย แก้คำนำหน้า

06 มิ.ย. 2566 | 11:38 น.

"สมรสเท่าเทียม" รัฐบาลก้าวไกล โดย "ครูธัญ" ธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์ ลั่นเดินหน้าทันที เตรียมคลอดกฎหมาย แก้คำนำหน้า รับรองเพศสภาพ ขยับ LGBTQ ได้รับสิทธิเท่าเทียมชายหญิง ทุกด้าน

เดือนมิถุนายน เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวLGBTQ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการจัดกิจกรรม BANGKOK PRIDE 2023 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 โดยมีขบวนธงไพรด์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 144.8 เมตร เป็นไฮไลท์ของงาน และยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมมากมาย รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ว่าที่ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้ขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเรียกร้องซึ่งสิทธิความเสมอภาคให้กับกลุ่ม LGBTQ "ธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์" หรือ "ครูธัญ" ถึงความคืบหน้าของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อไปของกฎหมายฉบับนี้

ครูธัญได้เล่าถึงจุดเริ่มต้น ที่ประเทศไทยได้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการสมรสของกลุ่ม LGBTQ ว่า การเรียกร้องให้เพศเดียวกันสมรสกันได้นั้น เริ่มมาจาก เดือนสิงหาคม 2555 คุณเกย์นที พร้อมคนรักเพศเดียวกันที่คบกันมา 19 ปี ได้ไปขอจดทะเบียนสมรสที่จ.เชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ เรื่องดังกล่าวจึงได้นำเข้ามาสู่สภาตั้งแต่ปี 2556 และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการออกกฎหมายเพื่อรับรองคู่รัก LGBTQ โดยใช้คำว่า "คู่ชีวิต"

สำหรับร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลนั้น เรียกว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) ฉบับที่... เสนอโดยธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์ มีเนื้อหาเพื่อปรับปรุงกฎหมายจาก ชายและหญิง เป็นบุคคล ต่อบุคคล เพื่อให้คนทุกเพศมีสิทธิในการสมรส ได้ยื่นไปในปี 2563 

ซึ่งมีความแตกต่างจาก อีก3ร่าง ที่เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีหลักการคือ ให้สิทธิกับคนทุกเพศ ในการใช้ชีวิตคู่กัน และพ.ร.บ.คู่ชีวิต ของค.ร.ม.ชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการเสนอของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะให้เพศเดียวกันเป็นคู่ชีวิตกันได้ โดยมีการแก้ไข ป.พ.พ.บางมาตรา เพื่อให้ผู้ที่จดทะเบียนคู่ชีวิตแล้ว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้อีก

สมรสเท่าเทียม LGBTQ

ดูคลิปเต็ม : Pride month - สมรสเท่าเทียม ไปถึงไหนแล้ว คุยกับ "ครูธัญ ก้าวไกล"

คู่สมรส และคู่ชีวิต ต่างกันอย่างไร

"คู่สมรส" เป็นคำเดิมที่มีในกฎหมายอยู่แล้ว ศักดิ์ศรีสถานะทางกฎหมายคือคู่สมรสเทียมเท่ากับชายและหญิงทั่วไป และเป็นคำที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆอีกประมาณ 117 ฉบับ ซึ่งผู้ที่มีเพศหลากหลายสามารถเป็น"คู่สมรส" กันได้ กฎหมายอีก 117 ฉบับนี้ ก็จะให้สิทธิเช่นเดียวกัน 

โดยการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเหล่านี้ ไม่ถือเป็นความยุ่งยาก เพราะเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องคุ้มครอง และให้สิทธิแก่ประชาชน อะไรที่กฎหมายเคยมองไม่เห็นด้านความเท่าเทียมทางเพศ ก็ต้องปรับแก้ ซึ่งในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ได้เขียนบทเฉพาะกาลคุ้มครองไว้แล้ว ในระยะเริ่มต้น

ส่วน"คู่ชีวิต"นั้นถือเป็นคำบัญญัติใหม่ จึงต้องคำนึงถึงสิทธิต่างๆ ที่ไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุคำว่าคู่ชีวิตเอาไว้เลย จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่ม LGBTQ จะได้สิทธิเหล่านี้ไหม นี่คือสิ่งที่ ครูธัญได้อธิบาย

 

ความคืบหน้า "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" 

ครูธัญเปิดเผยถึงความคืบหน้า "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ว่าร่างของก้าวไกลได้ผ่านวาระ1 ของสภาไปสู่ขั้นทำงานในกรรมาธิการเรียบร้อยแล้ว ผ่านการมีส่วนร่วมของหลายพรรคการเมือง จึงต้องขอยกเครดิตให้ทุกๆพรรคที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างในขั้นกมธ.จนสมบูรณ์เรียบร้อย ซึ่งสามารถค้นประวัติดูได้ว่าใครเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร

ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นไปตามที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกันว่า จะยืนยัน "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"ซึ่งหมายความว่าสามารถเดินหน้าต่อได้เลย เข้าสู่การโหวตในวาระ 2 เพราะสิทธิประชาชนที่ถูกพรากไปต้องคืนให้อย่างเร็วที่สุด 

แต่หากพรรคก้าวไกลกลายไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่สามารถพูดไปล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะสนับสนุนเรื่องนี้ต่อหรือไม่ เพราะต้องให้เกียรติทุกพรรคว่าจับมือเราแน่น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมาวิเคราะห์กันใหม่ ซึ่งขณะนี้สังคมมีความก้าวหน้าขึ้นมาก มีทั้งประชาชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาช่วยติดแฮชแท็กเรื่องนี้ จนเป็นเรื่องมหาชนในขณะนี้  

สิทธิที่ LGBTQ จะได้รับอะไรจาก "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ครูธัญ อธิบายถึงสิทธิที่กลุ่ม LGBTQ จะได้รับว่า ให้สิทธิด้านการจดทะเบียนสมรส และให้ฐานะคู่สมรส ซึ่งจะนำมาสู่สิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการอภิบาลดูแลกัน การเซ็นรักษาพยาบาล สิทธิในคู่สมรสที่เป็นข้าราชการ การใช้นามสกุลร่วมกัน

การรับอุปการะบุตรในฐานะคู่สมรส ซึ่งต่างจากการรับอุปการะบุตรเพียงคนคนเดียว สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการทำพิธีศพ และทุกๆสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คู่รัก LGBTQ ไม่เคยมีมาก่อน แม้กระทั่งกฎหมายฟ้องชู้ ก็มีการบังคับใช้ด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองคู่สมรสในทุกเพศ 

สำหรับความคุ้มครองในกฎหมายแรงงานเช่น วันลาจากการผ่าตัดแปลงเพศ หรือ สวัสดิการของกลุ่ม LGBTQ จะเกิดขึ้นหลังจากได้ปรับแก้กฎหมายเรื่องรับรองเพศ และคำนำหน้านามให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งจะดำเนินการภายใน 100 วันแรก และต้องคำนึงถึงเรื่องงบประมาณด้วย

เพราะด้วยเลนส์ของกฎหมายยังมองบุคคลตามเพศกำเนิด เพื่อการกำหนดสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ ที่ฝ่ายราชการระบุว่าเครื่องแบบข้าราชการ เป็นเรื่องของผู้ผ่านคุณสมบัติตามกฎหมาย จึงได้รับอนุญาตให้แต่งเครื่องแบบข้าราชการได้ ไม่ใช่เรื่องของสิทธิ แต่หากมีการรับรองเพศสภาพแล้ว ก็จะนำมาสู่กาสรปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบอื่นๆได้

สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับสินสอด หรือของหมั้น จะเปลี่ยนจาก ชาย และหญิง เป็นผู้หมั้น และผู้รับหมั้น โดยเป็นการให้สิทธิว่าผู้หมั้นจะเป็นเพศใดก็ได้ และหากมีการผิดสัญญาหมั้น ก็สามารถเรียกร้องได้ โดยการกระทำที่เรียกว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น ก็ให้ขึ้นกับการตกลงกันเองของทั้ง 2 ฝ่าย 

LGBTQ กับหลักศาสนา

ครูธัญ ฉายภาพเกี่ยวกับ LGBTQ  และหลักศาสนา ว่ารู้สึกดีใจที่เกิดข้อตกลงใน MOU เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เช่นเดียวกับการร่วมโต๊ะทานอาหาร ที่ผู้ทานมังสวิรัติ พี่น้องมุสลิมที่ไม่ทานเนื้อหมู หรือผู้ที่นับถือศาสนาที่ไม่ทานเนื้อวัว แต่ทุกคนสามารถนั่งรับประทานอาหารของตนเอง ร่วมโต๊ะเดียวกัน และสนทนาพูดคุยกันได้ โดยไม่ได้เป็นการเอาอาหารที่ผู้อื่นไม่ทานไปใส่ปากกัน ต้องมีการเคารพให้เกียรติกัน

MOU ร่วมจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล

กลุ่ม LGBTQ ที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ก็ต้องเข้าใจหลักศาสนา ต้องไม่มีการกดดันบังคับผู้นำศาสนาให้ทำพิธีทางศาสนาให้ หากเป็นการขัดต่อหลักศาสนา ทุกคนต้องมีพื้นที่ของตนเองและไม่ละเมิดกัน และให้เกียรติในความเชื่อของแต่ละฝ่าย โดยมีรัฐที่ให้สิทธิในฐานะรัฐ ส่วนหลักศาสนาเป็นสิทธิของความศรัทธา ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอาณาเขต