เทรนด์ตลาดของเล่นสหรัฐฯปี 66 โตต่อเนื่อง

15 เม.ย. 2566 | 09:29 น.

พาณิชย์เผยเทรนด์ตลาดของเล่นสหรัฐฯ ปี 66 สินค้าที่สร้างจากตัวละครในหนังและทีวี ของเล่นคลาสสิกรุ่นพ่อแม่ สินค้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้ ได้รับความนิยมสูง ผู้ประกอบการไทยศึกษาวางแผนผลิตและส่งออก 

  นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า จากการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถึงเทรนด์ตลาดของเล่นในสหรัฐฯ ปี 2566 เพื่อแจ้งถึงผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าของเล่นของไทย ที่จะได้ศึกษาแนวโน้มและทิศทางของเล่นในตลาดสหรัฐฯ และนำมาปรับใช้ในการวางแผนการผลิตและส่งออกสินค้าของเล่นไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้ต่อไป

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า บริษัทวิจัยการตลาด The NPD Group มีการคาดการณ์ว่าการจำหน่ายสินค้าของเล่นและเกมส์ของสหรัฐฯ ในปี 2566 น่าจะมีการเติบโตขึ้นถึง 31,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 29,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าช่วงปี 2566-2570 จะมีการขยายตัวเฉลี่ย 4.51% ต่อปี ทำให้ตลาดของเล่นในสหรัฐฯ ยังคงมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เทรนด์ตลาดของเล่นสหรัฐฯปี 66 โตต่อเนื่อง

   สำหรับเทรนด์ของเล่นที่น่าสนใจและมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในปี 2566 ได้แก่ อิทธิพลของภาพยนตร์และรายการทีวี โดยของเล่นที่สร้างจากตัวละครในภาพยนตร์และทีวีมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง19%แต่ของเล่นที่ไม่อิงกับภาพยนตร์และทีวีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ความต้องการสินค้าของเล่นคลาสสิก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อแม่สู่ลูก โดยต้องการชดเชยความสูญเสียบางส่วนในตอนที่เป็นเด็ก หาของเล่นในยุคตนเองมาแนะนำให้กับลูก เช่น รถบรรทุก ตุ๊กตาหมี และผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับของเล่นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หากใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้หรือวัสดุชีวภาพก็จะได้รับความนิยม

เทรนด์ตลาดของเล่นสหรัฐฯปี 66 โตต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังให้ความนิยมในการสมัครสมาชิกเพื่อรับของเล่นอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบทั้งรายเดือน รายปี นิยมการเปิดกล่องสุ่มที่ช่วยสร้างประสบการณ์ตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่าสินค้าที่ส่งมาคืออะไร นำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาช่วยดึงดูดผู้บริโภค เช่น การตั้งโปรแกรมให้สร้างเกม เล่าเรื่องราว ผ่านแอปพลิเคชัน มีระบบจดจำใบหน้า สิ่งของ และสนทนาได้ ผสมผสานเทคโนโลยีกับการเรียนรู้ และผู้ปกครองนิยมหาของเล่นที่เสริมทักษะให้ลูกมากขึ้น