EXIM BANK หนุนผู้ประกอบการไทยยกเครื่องกระบวนการผลิต

11 เม.ย. 2566 | 05:04 น.

EXIM BANK หนุนผู้ประกอบการไทยยกเครื่องกระบวนการผลิต รุกตลาดสินค้าเติบโตสูง สู้สัญญาณส่งออกชะลอตัว

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2566 ยังไม่แจ่มใส แม้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะลดความรุนแรงจากการโจมตีด้วยอาวุธหนัก แต่เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหาสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น จึงทำให้ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาถูกจับตามองอีกครั้งว่าจะยังคงขยายตัวต่อไปได้หรือไม่
 


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากการติดตามดัชนีประเมินทิศทางการส่งออกของไทยรายไตรมาส หรือ EXIM Index พบว่า ดัชนีต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องติดต่อกันทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้  ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะชะลอลงจากปี 2565 ซึ่งขยายตัว 5.5% โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขการส่งออกที่อาจไม่สดใสนี้ ถ้ามองในมุมกลับและปรับตัวหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ การส่งออกก็อาจจะไม่ได้แย่ตามที่หลายฝ่ายคาดก็เป็นได้ 

สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรต้องทำจึงได้แก่การปรับตัว และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก กล่าวคือ ปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของ Next Normal ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและให้คุณค่ากับสินค้ารักษ์โลก การ Transform ธุรกิจของตน ปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน หรือลงทุนเพิ่ม รวมทั้งปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ให้ได้สินค้าคุณภาพดีตามมาตรฐานสากล และเจาะตลาดสินค้าที่ยังมีโอกาสเติบโตได้ เช่น ตลาดอาหารฮาลาล 

 

สำหรับการหาโอกาสในตลาดส่งออกใหม่ ๆ  จากการติดตามและวิเคราะห์ตลาดส่งออกของ EXIM BANK พบว่า ภูมิภาคเอเชียใต้และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ผู้บริโภคนิยมสินค้าไทย รวมถึงอาหารไทย หากเราสามารถสร้างอัตลักษณ์อาหารฮาลาลให้กับสินค้าไทยก็จะยิ่งเจาะตลาดได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ก็น่าสนใจ ด้วยจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานและมีกำลังซื้อสูงจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องปรับสินค้าให้ถูกจริตผู้บริโภคในตลาด
 


“ตลาดอาหารฮาลาลมีความน่าสนใจมาก เนื่องจากมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ตลาดอาหารฮาลาลโลกจะขยายตัวเฉลี่ยราว 15% ต่อปี จาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็น 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 นอกจากนี้ ตลาดอาหารฮาลาลยังมีขนาดใหญ่ โดยชาวมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1.9 พันล้านคน มากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เอเชียใต้ 500 ล้านคน ตะวันออกกลาง 300 ล้านคน อาเซียน 240 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง เช่น กาตาร์มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 89,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซาอุดีอาระเบีย 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย 13,900 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับไทย 8,300 ดอลลาร์สหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังเป็นจังหวะที่ดีในการใช้โอกาสจากการที่ไทยกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย เมื่อผนวกกับศักยภาพของคนไทยและความสมบูรณ์ด้านทรัพยากร ทำให้ SMEs ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน หากสามารถพัฒนาสินค้าให้ได้ Halal Certification รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาสินค้าอาหารให้ตอบโจทย์รสนิยมชาวอาหรับ เช่น ชอบรสชาติหวาน และนิยมอาหารกระป๋อง เพราะของสดเน่าเสียง่าย จะสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อย่างมาก” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว 

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการให้พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้แข่งขันด้านคุณภาพ และไม่แข่งขันด้านราคา สร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว EXIM BANK จึงมี สินเชื่อที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าว อาทิ สินเชื่อเพื่อการปรับตัว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยี ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต วงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 1.99% ต่อปี เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) และพัฒนาเชิงนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการพัฒนากระบวนการผลิตและส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก 
 

การปรับตัวของผู้ประกอบการรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดส่งออก เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวมากหรือน้อย ซึ่ง ดร.รักษ์ ระบุว่า “ถ้าเราใช้วิธีบริหารแบบเดิม การส่งออกของไทยก็จะเติบโตอย่างมีข้อจำกัด แต่ถ้าเราใช้กลยุทธ์ใหม่ ๆ เช่น การเติมความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่ไปกับการเติมโอกาส และเติมเงินทุนสนับสนุน SMEs ให้เริ่มต้นส่งออก หรือเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก เติบโตจาก Local สู่ Global Supply Chain โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ร่วมกับพันธมิตรในการหาผู้ซื้อต่างประเทศและตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งช่วยบริหารระบบนิเวศเครือข่ายธุรกิจ ผมคิดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปต่อได้ และจะยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลกการค้ายุคใหม่”