ตลาด "อัญมณี" ฟื้น เอกชนตื่นตัว ผลักดันยอดส่งออกโตอีก 15%

13 เม.ย. 2566 | 04:41 น.

สภาอุตฯ คาดส่งออกอัญมณีปี 66 ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก 10-15% จากมูลค่า 279,602.63 ล้าน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ลุยจัดงาน JGAB ขณะนี้ภาคเอกชน “เกซซ์ไวน์สยาม” ปลื้มยอดขายโตสองหลัก จ่อเปิดตัวสินค้าใหม่กระตุ้นยอดขาย

นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่มียอดขายสูงสุดเป็น อันดับ 3 ของไทย โดยมีมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) 517,607.97 ล้านบาท ขยายตัว 62.83 % หากไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าส่งออกถึง 279,602.63 ล้านบาท ขยายตัว 43.42 % และคาดว่าในปี 2566 จะสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 10-15% เพราะประเทศไทยยังเป็นแหล่งที่ผู้ซื้อจากทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะความสามารถของช่างฝีมือไทย  

 
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจงานแสดงสินค้าเริ่มกลับมาจัดได้เป็นปกติ ซึ่งที่ผ่านมา จัดงานไปแล้วทั้งหมด 14 งาน ล่าสุด ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงาน “Jewellery & Gem ASEAN Bangkok” (JGAB) ว่า Informa Markets Jewellery งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ระหว่างวันที่ 26 - 29 เมษายน 2566 ณ Hall  1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนเนื้อที่กว่า 10,000 ตารางเมตร งานนี้เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก โดย Informa Markets Jewellery เป็นผู้จัดงาน Jewellery & Gem WORLD Hong Kong งานแสดงสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมนำประสบการณ์การจัดหาผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกมาจัดงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าหลายตลาดยังคงขยายตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 18.88% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม52.68% ญี่ปุ่น เพิ่ม 11.10% เบลเยียม เพิ่ม 10.28% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 26.25% อิตาลี เพิ่ม 499.16% ส่วนเยอรมนี ลด 0.96% ฮ่องกง ลด 20.03% สหราชอาณาจักร ลด 35.74% และอินเดีย ลด 68.50% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 34.56% พลอยก้อน เพิ่ม 19.97% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม78.88% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 74.18% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.76% เครื่องประดับแพลทินัม ลด64.42% เพชรก้อน ลด 18.38% เพชรเจียระไน ลด 39.01% เครื่องประดับเทียม ลด 24.06% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า ลด 17.16% และทองคำ ลด 14.81%

นายโรเจอร์ เกซซ์ไวน์ รองประธานกรรมการ บริษัท เกซซ์ไวน์สยาม จำกัด

ด้านนายโรเจอร์ เกซซ์ไวน์ รองประธานกรรมการ บริษัท เกซซ์ไวน์สยาม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมืออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมองว่าเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ เริ่มมีการคลี่คลายกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ทำให้เกิดความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับและเกิดการผลิตกลับมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดความต้องการทางด้านเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เห็นได้จากคู่ค้าของบริษัทที่เริ่มกลับมาผลิตสินค้าส่งออกได้มากขึ้น ทำให้บริษัทมีการเติบโตระดับสองหลักตั้งแต่ปลายปี 2565 และคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ก็จะยังคงเติบโตในระดับสองหลักอย่างต่อเนื่อง

ด้านแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นี้ จะยังให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศที่เข้าไปทำตลาดก่อนหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของการออกสินค้าใหม่ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิต และช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ใหม่และดีกว่าเดิม ซึ่งบริษัทฯ เตรียมที่จะนำเสนอสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดด้วยกันหลายรุ่น อาทิ 1. Envisiontec Einstein Pro-XL และ D4K Pro 3D Printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ 2. PUK6 Precision Welding เครื่องเชื่อม PUK6 รุ่นใหม่ล่าสุด นวัตกรรมจากประเทศเยอรมัน PUK6 3. Avalon Electro-Polishing เครื่องขัดชิ้นงานด้วยระบบไฟฟ้าจากประเทศโปแลนด์ 4. Elettrolaser Welding Machine เครื่องเลเซอร์เชื่อมงานโลหะมีค่าจากประเทศอิตาลี 5. HyCeram® Hybrid Ceramic Compound:  Hyceram สีเซรามิคเงางามคุณภาพสูงจากบริษัท Invicon ประเทศออสเตรีย บริษัทฯ จะเปิดตัวสินค้าใหม่เหล่านี้ในงาน JGAB 

 

นายโรเจอร์ กล่าวว่า สัดส่วนในการทำธุรกิจของบริษัทประมาณ 70-80% มาจากภายในประเทศ ที่เหลือเป็นต่างประเทศประมาณ 20-30% ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม เป็นการดำเนินธุรกิจผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยประเทศเมียนมาและกัมพูชายังเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ ต้องการเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ ซึ่งตลาดมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อ ส่วนเวียดนามการแข่งขันค่อนข้างสูง และสภาพตลาดมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย