ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ยกฟ้องคดีล้มประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ชอบด้วยกฎหมาย

30 มี.ค. 2566 | 03:22 น.

"ศาลปกครองสูงสุด" พิพากษา ยกฟ้องคดีล้มประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ชอบด้วยกฎหมาย หลังบีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.-คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สั่งเดินหน้าประมูลต่อ หวั่นโครงการล่าช้ากระทบประชาชน

รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า เวลา 9.00 น.ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีมีมติการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ

 

 ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์หากล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก รวมถึงทำให้การให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ล่าช้า ส่งผลให้มีค่าใช้ด้านงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการฯเมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นทางจะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คนต่อเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าจะทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียประโยชน์

 

 ส่วนในกรณีที่คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครองจึงไม่สามารถทราบวันเวลาสิ้นสุดว่าจะสิ้นสุดคดีเมื่อไร ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯมีปัญหาล่าช้า เบื้องต้นทางคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถเดินหน้าการเปิดประมูลโครงการฯโดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้

นอกจากนี้ในกรณีที่ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการฯขัดความเสมอภาคหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวไม่ขัดความเสมอภาคและเป็นการดำเนินการโดยสุจริต เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 ยังไม่ได้พิจารณาเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนรายใด ทำให้การยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก

 

ดังนั้นการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการฯสามารถทำได้ตามพรบ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562 โดยในเอกสารได้ระบุไว้ว่า รฟม.สงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนได้