สายสีส้ม แบกต้นทุนอ่วม รอเคลียร์คดี-รัฐบาลใหม่ ช่วงตะวันออกเดือนละ41ล้าน

19 มี.ค. 2566 | 00:39 น.

สายสีส้มอ่วม ถูกถอนวาระตกขบวน ครม.บิ๊กตู่นัดสุดท้าย ส่อลากยาว รอเคลียร์ คดีจบ-รัฐบาลใหม่ รฟม.ชี้ ส้มตะวันออก มีค่าดูแลรักษา 41 ล้าน/เดือน เจรจาให้เอกชนรับภาระ ด้านรับเหมา ย้ำหากไม่ล้มประมูลได้ใช้บริการแล้ว

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งประวัติศาสตร์ (14 มีนาคม 2566) ซึ่งเป็น นัดสุดท้ายก่อนยุบสภาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา โดยพบว่ามีโครงการเสนอเข้าสู่การพิจารณามากถึง 88 เรื่อง และหนึ่งในนั้น คือ โครงการอื้อฉาวที่สังคมกังขา รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฎิบัติหน้าที่แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ผลักดันผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี บรรจุเข้าวาระจร เพื่อขออนุมัติ ผลการประมูลโครงการ แต่ถูกพรรคร่วมรัฐบาลคัดค้านหนัก เพราะ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังมีคดีผูกพัน กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

รวมถึงยังไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ โดยเฉพาะปมร้อนหลายประเด็น อย่างส่วนต่าง 6.8หมื่นล้านบาท ระหว่างการประมูลรอบแรกและรอบที่สอง จนเป็นที่มาของ นายกรัฐมนตรีทุบโต๊ะ สั่งถอน เรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุม

 

ส่งผลให้ การลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรฟม.กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ต้อง รอครม.ชุดใหม่ ในมุมกลับกันความล่าช้า ที่เกิดขึ้นทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% และเดิมที่มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถปี 2566 ต้อง ลากยาวออกไปปี 2568

เนื่องจากกระทรวงคมนาคม นำช่วงตะวันตก ไปผูกรวมไว้กับช่วงตะวันออกโดยเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวก่อสร้างงานโยธา ในส่วนตะวันตก และลงทุนวางระบบราง จัดหาขบวนรถ และเดินรถทั้งระบบ แต่ทั้งนี้ หากรฟม.ไม่เปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลกลางอากาศขณะแข่งขัน และไม่ล้มประมูล รอบแรก เชื่อว่า ส่วนตะวันออกจะ เปิดให้บริการตามแผนปี2566

“ฐานเศรษฐกิจ ”ลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก พบว่าสภาพตัวสถานีเสร็จสมบูรณ์ แต่ ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้มีเพียง การจ้างพนักงานดูแลอาคาร

แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมาระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าช้ามาแล้วเกือบ 3 ปี โดยเสียเวลาจากการล้มประมูล และฟ้องร้อง ปัจจุบัน ต้องลากยาวออกไปอีกจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะลงนามได้เมื่อใด เพราะ ต้องหลุดพ้นจากทุกคดีเสียก่อน นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเสียโอกาสใช้บริการ

ที่สำคัญ ยังเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการประเมินของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือ สภาพัฒน์ กรณีสายสีส้ม ปีละ4.6หมื่นล้านบาท รวมถึง รฟม. ต้องเสียค่าดูแลรักษาสายสีส้มตะวันออก และต้นทุนค่าก่อสร้างช่วงตะวันตกที่สูงขึ้น

แหล่งข่าวจากรฟม.ระบุว่า ปัจจุบันรฟม.ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลได้ เนื่องจากติดปัญหาคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการของศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าส่วนตะวันออก รวมถึงการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นรฟม.มีแผนจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกภายในเดือนสิงหาคม 2568 ขณะที่ส่วนตะวันตก จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2570

ขณะเดียวกันรฟม.อยู่ระหว่างการประเมินค่าดูแลรักษาต่อเดือน และพยายามเจรจาให้ผู้รับจ้างงานโยธาส่วนตะวันออก ร่วมรับภาระส่วนหนึ่ง และ BEM ผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ต้องดำเนินการงานโยธาในส่วนตะวันตกและการเดินรถตลอดทั้งเส้นทาง ให้รับมอบโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกไปดูแลให้เร็วขึ้น

ส่วนค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จนั้น รฟม.คาดว่าต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 41.26 ล้านบาท แต่หากมีการลงนามสัญญาทางผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง

“ขณะนี้ประชาชนรอใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ ซึ่ง รฟม. มีความตั้งใจที่จะทำโครงการให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ต้องรอให้มีการลงนามสัญญาร่วมกับ BEM ก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถเร่งรัดการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องขบวนรถที่สั่งผลิต ไม่สามารถสั่งซื้อและนำเข้ามาได้เลย เพราะต้องใช้เวลา แต่คาดว่าจะทยอยนำขบวนรถเข้ามาให้บริการ"

ทั้งนี้ในเอกสารประกาศเชิญชวนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุว่า ระยะเวลาที่ผู้ร่วมลงทุนมีความผูกพันต้องปฏิบัติตามโครงการร่วมทุน ดังนี้

1. การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและการจัดหาระบบรถไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน นับจากวันที่แจ้งให้เริ่มงาน เว้นแต่ได้รับการขยายระยะเวลาจาก รฟม. ทั้งนี้ในกรณีดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลา จะมีค่าปรับตามอัตราในเงื่อนไขของร่างสัญญาร่วมลงทุน

2.การออกแบบและการก่อสร้างงานโยธา การออกแบบและการก่อสร้างระบบรางวิ่ง การจัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้า ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 6 ปี นับจากวันที่แจ้งให้เริ่มงาน เว้นแต่ได้รับการขยายระยะเวลาจากรฟม. ทั้งนี้ในกรณีดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจะมีค่าปรับ ตามเงื่อนไขของร่างสัญญาร่วมลงทุนเป็นต้น