ยาง-ปาล์ม-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจตรัง‘ทะยาน’

08 ก.พ. 2566 | 05:54 น.

เศรษฐกิจเดินเครื่องแล้ว หลังประเทศต่างๆ กลับมาเปิดการเดินทาง ทำให้การท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ กลับมาฟื้นตัวแรง

ภาคเอกชนตรังมั่นใจทิศทางบวกเพิ่ม จากพื้นที่มีตัวช่วยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรังจะเปิดให้บริการปีนี้ เพิ่มความสะดวกการเดินทาง หากผลผลิตและราคาพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ยางพาราและปาล์มนํ้ามัน มีแนวโน้มสดใส

นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเศรษฐกิจตรังปีนี้ อยู่ที่พืช เศรษฐกิจ คือ ยางและปาล์ม นํ้ามัน ซึ่งราคาจะดีหรือไม่อยู่ที่เศรษฐกิจโลก ว่าจะมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากยางพาราและปาล์ม อาทิ นํ้ายางดิบ นํ้ายางข้น ยางอบแห้ง ไม้ยาง เฟอร์นิเจอร์ นํ้ามันปาล์ม และผลิตภัณฑ์ มากน้อยเพียงใด

นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง

ยาง-ปาล์ม-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจตรัง‘ทะยาน’

ขณะที่ตรังมีศักยภาพ ทุกด้าน คือมีโครงข่ายคมนาคมขนส่งครบ ทั้งท่าเรือ ทางรถไฟ ถนนเชื่อมภายในและกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือทางอากาศ ที่ปลายปีนี้สนามบินตรังจะเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ พร้อมรับเครื่องเช่าเหมาลำนำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตรงมาลงตรัง และแผนพัฒนาจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 รอง รับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ ทำ ให้ธุรกิจท่องเที่ยวและต่อเนื่องมีโอกาสเพิ่มขึ้น

แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตรังต้องร่วมมือกับภาครัฐ อย่าให้มีทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์กลับไปอย่างเดียว ขณะเดียวกันต้องพัฒนาตัวเอง ลงทุนหรือเปิดทางให้มีการลงทุนโรงแรมรีสอร์ทระดับ 4-5 ดาว ส่วนร้านอาหาร ร้านขายของฝาก และธุรกิจบริการนักท่องเที่ยว ต้องได้มาตรฐานและมุ่งลูกค้ากลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อ

ยาง-ปาล์ม-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจตรัง‘ทะยาน’

ยาง-ปาล์ม-ท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจตรัง‘ทะยาน’

อีกกลุ่มเป้าหมายคือการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ในปี 2568 ตรังจะร่วมกับภูเก็ต พังงา และกระบี่ หรือกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่ และบุคลากร โดยในกลุ่มมีสถาบันการศึกษาด้านกีฬา ทั้งโรงงาน วิทยาลัย จนถึงมหาวิทยาลัย และควรส่งเสริมการจัดแข่งขันกีฬาแมตช์นานาชาติในพื้นที่

นายธีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ หากมีการปล่อยสินเชื่อสู่ภาคเอกชน เชื่อว่าในปี 2566 และในอนาคตทิศทางเศรษฐกิจของตรัง ไปได้ดีมาก หากราคาพืชผลการเกษตร ยางและปาลม์มีราคาดีตามเศรษฐกิจโลก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ดีตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด

นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานบริหาร ทับวารินทร์รีสอร์ท มันยาเลรีสอร์ท เกาะไหง และดูกองวิลเลจ ปากเมง

ด้านนายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานบริหาร ทับวารินทร์รีสอร์ท มันยาเลรีสอร์ท เกาะไหง และดูกองวิลเลจ ปากเมง ชี้ว่า การท่องเที่ยวตรังมีศักยภาพ จากความพร้อมทางธรรมชาติ แต่ยังขาดที่พักระดับ 4-5 ดาว เพื่อรองรับกลุ่มพรีเมี่ยม เกาะในทะเลตรัง ทั้งเกาะไหง เกาะกระดาน เกาะมุก และเกาะสุกร พร้อมที่จะรองรับให้นักลงทุนมาสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทระดับ 4 -5 ดาว โดยที่ชายหาดและเกาะทะเลตรัง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากยุโรปและกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่นิยมอาบแดดและว่ายนํ้าทะเล และพักนาน อีกกลุ่มคือนักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่ มีความรู้ภาษาอังกฤษ นิยมมาเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงเช่นกัน

ขณะที่ นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมตรัง กล่าวว่า ภาคการผลิตที่ตรังส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มนํ้ามัน อาหารทะเล ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับงานก่อสร้าง โรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ โรงงานแอสฟัลติก โรงโม่หิน และโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีต เป็นต้น

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน)

โดยธุรกิจโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราเวลานี้ชะลอตัวลง จากที่จีนผู้ซื้อรายใหญ่สั่งซื้อน้อยลง มีไม้ยางค้างตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมาก จึงเดินเครื่องผลิตในลักษณะประคองตัว ส่วนโรงงานอาหารทะเล ที่ผลิตปลา กระป๋อง อาหารชนิดต่างๆ พร้อมรับประทาน หรือโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ทิศทางไปได้ดี เพราะยังมีความต้องการในตลาด ทั้งในประเทศและตลาดโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก

เศรษฐกิจดีหรือไม่ดูได้จากดัชนีกล่อง นายสาวุฒิ วงศ์หนองเตย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยสากลบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจของจ.ตรังในปี 2566 นี้จะสดใสหรือไม่ สะท้อนได้จากธุรกิจผลิตกล่องกระดาษ สำหรับบรรจุอาหารและสินค้าชนิดต่างๆ หากสินค้าส่งออกดี เช่น สินค้าถุงมือยาง อาหารทะเลแช่แข็งพร้อมรับประทาน มีออเดอร์มาก ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจการพิมพ์และผลิตกล่องกระดาษเป็นเงามตัว

แต่เวลานี้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไทยกำลังมีปัญหา นักธุรกิจจีนที่มาลงทุนในพื้นที่ตรัง เมื่อผลิตสินค้าแล้วกลับใช้บรรจุภัณฑ์นำเข้าจากจีนมาบรรจุสินค้าของตนเอง แทนที่จะใช้บริการบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตในพื้นที่ เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายจูงใจให้ไปลงทุนนอกบ้าน โดยจะได้รับการคืนภาษีช่วยผู้ประกอบการจีนทั้งหมด เท่ากับว่า SMEs ไทยต้องแข่งขันกับรัฐบาลจีนที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในเวลานี้

นายพิพัฒน์ จุติอมรเลิศ รักษาราชการหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง

นายพิพัฒน์ จุติอมรเลิศ รักษาราชการหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า อาชีพสวนยางและปาล์มเป็นอีกสาขาเศรษฐกิจหลัก ซึ่งเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโลกว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร มีโรงงานเกี่ยวเนื่องกับยางพารา นํ้ายาง ไม้ และนํ้ามันจากปาล์ม หากปีใดโรงงานมีความต้องการใช้วัตถุดิบมากก็จะดึงราคายางและปาล์มให้สูงขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ต้องดูการเปิดประเทศของจีน ว่าจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะดึงความต้องการใช้วัตถุดิบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะไทยและอาเซียนที่เป็นคู่ค้าหลัก 

 

ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,859 วันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566