รีบใช้จังหวะ วิกฤตพลังงาน ถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

24 ก.ย. 2565 | 01:30 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3820

แผนการจัดหาแหล่งพลังงานระยะยาว ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันไปในทิศทางเดียวกัน เวลานี้กำลังพุ่งเป้าไปที่การเจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้รองรับวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น จากการต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพง

 

ช่วงที่ผ่านมามีการหารือในคณะรัฐมนตรี นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำการเจรจา

 

เท่ากับกับการรื้อฟื้นคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ที่เคยมีการแต่งตั้งมาครั้งแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่งตั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการจากหน่วยราชการ อันได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมอุทกศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ ที่ได้กำหนดกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยมีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง แต่การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้า

การแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดังกล่าว ล่าสุดได้มีการไปเจรจากับทางกัมพูชา มารอบหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีข้อห่วงใยทางด้านความมั่นคง หรือเส้นแบ่งเขตแดน ที่เป็นพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนมีพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร

 

มีการอ้างถึง ที่กระทรวงการต่างประเทศ ยังไม่กล้าตัดสินใจ เพราะยังติดกับข้อบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่มีสาระสำคัญคือ ให้ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโดยแบ่งพืนที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

1. พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไปให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ

 

2. พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมาให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน โดยให้ดำเนินการทั้ง 2 ประการไปพร้อมกันโดยไม่อาจแบ่งแยก และได้ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เป็นกรอบการเจรจาเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ดังนั้น การเจรจาให้เดินหน้าไปได้ อาจจะต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขเอ็มโอยูที่ได้ทำกันไว้ใหม่ เพราะเวลานี้เองทางรัฐบาลกัมพูชา ได้เปิดรับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ร่วมกันกับไทย และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดหรือ “แบ่งปันผลประโยชน์” ร่วมกันโดยใช้โครงการ JDA (Joint Development Area) ระหว่างไทยและมาเลเซียเป็นต้นแบบ เพื่อจะหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤตด้านพลังงานที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากไม่ลงมือดำเนินการเร่งเจรจาหรือพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น

 

ในขณะที่ผ่านมาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็เห็นชอบในที่จะให้มีการพัฒนาในรูปแบบเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะยังติดข้อห่วงใยของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคงต้องรอลุ้นว่าภายในปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศ จะรุกเดินหน้าเจรจาอย่างไรต่อ