กทม.เล็งจัดระเบียบร้านค้า "เขตสัมพันธวงศ์" หนุนแหล่งเศรษฐกิจเส้นเลือดฝอย

23 ต.ค. 2565 | 02:17 น.

“กทม.” เร่งชูจัดระเบียบร้านค้า “เขตสัมพันธวงศ์” 1.5 พันราย ชูอัตลักษณ์เสน่ห์ย่านการค้า เชื่อมโยงแหล่งเศรษฐกิจเส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ผู้ว่าฯ สัญจร เขตสัมพันธวงศ์ เพื่อรับฟังภาพรวมการบริหารจัดการ ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเขตสัมพันธวงศ์ว่า เขตสัมพันธวงศ์เป็นเขตที่ขนาดเล็กที่สุดใน กทม. มีพื้นที่ 1.416 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณกว่า 20,000 คน แต่เป็นเขตที่สำคัญเพราะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ มีย่านสำคัญคือ เยาวราช ตลาดน้อย รวมทั้งมีแหล่งวัฒนธรรมที่แหล่งท่องเที่ยว มีศาสนสถานทั้งวัดไทย วัดจีน วัดญวน มัสยิด และโบสถ์คริสต์ ลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม ปัญหาหลัก ๆ ของเขตสัมพันธวงศ์ คือ การค้าขาย โดยเฉพาะผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งปัจจุบันมีจุดที่เป็นพื้นที่ทำการค้าอยู่ 3 จุด ได้แก่ ถนนเยาวราช ถนนราชวงศ์ และถนนข้าวหลาม มีผู้ค้า 447 ราย และมีผู้ค้านอกจุดทำการค้า 56 จุด มีจำนวนผู้ค้า 1,570 ราย เป็นคนที่ค้าขายมานาน

 

 

 “นโยบายเราไม่ได้ผ่อนผันให้มากขึ้น แต่คงต้องจัดระเบียบให้ดี และจุดไหนที่จะนำเข้าระบบคงต้องคุยกับตำรวจอีกที ซึ่งหาบเร่แผงลอยไม่ใช่เรื่องสวัสดิการสังคม ต้องดูเรื่องความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก ได้เน้นให้เทศกิจเข้มงวดในการจัดจำนวนผู้ค้า ว่ามีใครลงทะเบียนในจุดผ่อนผัน ห้ามให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นต้องดูแลให้ดี อย่าให้ลงมาพื้นที่ทางเท้า ส่วนจุดที่ยังไม่ได้มีการอนุญาต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาต้องดูให้ละเอียดเนื่องจากกระทบหลายส่วนหลายครอบครัว”

กทม.เล็งจัดระเบียบร้านค้า "เขตสัมพันธวงศ์" หนุนแหล่งเศรษฐกิจเส้นเลือดฝอย

 

 ขณะเดียวกันภายในเขตสัมพันธวงศ์มีพื้นที่สีเขียวน้อย อาจจะมีสวนสาธารณะอยู่บ้าง จึงให้เน้นไปทำพื้นที่สีเขียวบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม พื้นที่แนวดิ่งตามอาคาร (สวนแนวตั้ง) อย่างน้อยช่วยดูดซับเรื่องฝุ่นพวกก๊าซมลพิษต่างๆ ส่วนเรื่องปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จะมีจุดอ่อน อยู่ 2 ส่วน 1. จากน้ำฝน ได้แก่ ริมถนนเยาวราช ฝั่งทิศเหนือ อาจจะมีน้ำท่วมขัง ซึ่งต้องดูระบบระบายน้ำและการลอกท่อให้ครบถ้วน และ 2. น้ำหลากและน้ำทะเลหนุนประจำปี ได้แก่ บริเวณถนนทรงวาดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณชุมชนตลาดน้อย (ศาลเจ้าโรงเกลือ) ซึ่งไม่มีเขื่อนกั้น

หากน้ำทะเลหนุนสูงและมวลน้ำเหนือไหลเข้าเจ้าพระยา ทำให้ชุมชนริมแม่น้ำได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามทางเขตได้รายงานว่ามีการกั้นแนวกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำรับมือไว้แล้ว ส่วนการทำเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนี้ได้รับประมาณและเตรียมดำเนินการจัดสร้างในเร็ววันนี้ โดยสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเป็นผู้ควบคุมดูแล

 

 

 

ส่วนปัญหาอื่น ๆ ในเขต คือ เรื่องนักท่องเที่ยว เพราะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมาเยอะ ได้ให้ทางเทศกิจกับทางตำรวจร่วมมือกัน ตั้งจุดเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวประสานให้ข้อมูลเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวถูกหลอก เรื่องรถโดยสารสาธารณะ เรื่องการซื้อของต่าง ๆ ให้เพิ่มความเข้มงวดตรงนี้ เนื่องจากในอนาคตนักท่องเที่ยวจะกลับมาเยือนเมืองไทยมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็จะผ่านเขตสัมพันธวงศ์ไปสู่แหล่งต่าง ๆ ในเมือง มาเยาวราช มาเยี่ยมพื้นที่ต่าง ๆ มีโรงเรียนในสังกัด กทม. 3 โรงเรียน มีนักเรียนเพียง 300 กว่าคน ซึ่งไม่เยอะ เพราะจำนวนผู้อาศัยหนุ่มสาวลดลง แต่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีศูนย์บริการสาธารณสุข 1 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 13 ไมตรีวานิช มีขนาดเล็กไม่ใหญ่ ผู้ใช้บริการประมาณ 30-40 คนต่อวัน 

 

กทม.เล็งจัดระเบียบร้านค้า "เขตสัมพันธวงศ์" หนุนแหล่งเศรษฐกิจเส้นเลือดฝอย


นอกจากนี้เขตได้เสนอ 2 เรื่อง คือ อยากให้ทำที่จอดรถเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เขตปัจจุบันไม่มีที่จอดรถ และในเขตสัมพันธวงศ์เองพื้นที่จอดรถน้อย อาจจะต้องจอดตามวัด คงต้องวิเคราะห์เรื่องความคุ้มค่าอีกครั้งหนึ่ง และทางเขตสนใจที่จะทำทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นทางเดินขนาดเล็ก กว้างประมาณ 2 เมตร ความยาวประมาณ 1,888 เมตร เพื่อให้เกิดการสัญจรเชื่อมโยงในเขต ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายเรื่องการเชื่อมโยงเส้นเลือดฝอย 
 

สำหรับแนวคิดคือ การทำแนวทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่เป็นทางเดินขนาดเล็กที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ผ่านมาปัญหาที่ชาวบ้านไม่อยากให้ทำคือกลัวเรื่องความปลอดภัย กลัวเรื่องขโมยเข้าบ้าน จริง ๆ แล้ว บางจุดริมน้ำอาจจะมีเลี้ยวเข้าไปในชุมชน เป็นทางเดินที่เชื่อมโยงกัน จะช่วยให้เส้นเลือดฝอยเข้าในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น และประชาชนใช้สัญจรได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องพิจารณาต่อไปในอนาคต

 

กทม.เล็งจัดระเบียบร้านค้า "เขตสัมพันธวงศ์" หนุนแหล่งเศรษฐกิจเส้นเลือดฝอย

 

นายชัชชาติ  กล่าวต่อว่า ส่วนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue มีเรื่องแจ้งทั้งหมด 792 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้น 634 เรื่อง ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ซึ่ง Traffy Fondue เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนการทำงานของ กทม. ได้ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้มีคนแจ้งเรื่องเข้ามากว่า 170,000 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วประมาณกว่า 100,000 เรื่อง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนไว้ใจ อยากจะแจ้งปัญหามาให้เราแก้ และเราก็ดำเนินการแก้ไขได้อย่างเร็ว 

 

 


“ที่ผ่านมาเราเปลี่ยนรูปแบบการทำงานคือให้อำนาจประชาชน สร้างความไว้ใจให้ประชาชนไว้ใจเรา ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจเรา เขาไม่แจ้งมา 170,000 เรื่อง เพราะเขาแจ้งมาแล้วได้รับความสนใจ ได้รับการแก้ไข อันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ไม่ได้หมายความว่าเราทำงานไม่ดีหรือปัญหาเยอะ แต่แสดงว่าประชาชนเริ่มไว้ใจการทำงานของเรา ซึ่งต้องขอบคุณทางเขต และทาง ส.ก.ที่ช่วยเป็นตัวกระตุ้น”