svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

26 ต.ค.นี้ ลุ้น สภากทม.เคาะค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

20 ตุลาคม 2565

“ชัชชาติ” ลุ้น สภากทม.เคาะค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 26 ต.ค.นี้ ยันเก็บค่าตั๋ว 15 บาท ชดเชยค่าจ้างเดินรถไม่ได้ เร่งแก้ปัญหาด่วน หวั่นกระทบงบประมาณในอนาคต

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ว่า การจัดเก็บค่าโดยสารนั้น หากดูตามบริบท ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเก็บค่าโดยสารอย่างไร ก็ไม่สามารถชดเชยค่าจ้างเดินรถของกรุงเทพมหานคร วงเงิน  5,000 ล้านบาท ได้ จากการศึกษาหากจัดเก็บในอัตรา 15 บาทตลอดสายของส่วนต่อขยายจะได้เงินชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

 

 

 

“ส่วนต่างจำนวนนี้จะต้องมีการตั้งงบประมาณชดเชยจากสภากรุงเทพมหานคร หากมีการนำเข้าสภากรุงเทพมหานครอาจจะเกิดปัญหาในอนาคตว่า หากสภาเห็นว่าต้องชดเชยการขาดทุนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเท่านี้แล้ว คงไม่ต้องการให้ กทม.เก็บค่าโดยสารเพียง 15 บาท ปัญหาสำคัญของการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 นี้คือ การที่การมอบหมายงานในส่วนต่อขยายนี้ยังไม่เคยผ่านสภากรุงเทพมหานครมาก่อน การจะดำเนินการใด ๆ จึงควรที่จะรายงานให้สภากรุงเทพมหานครทราบเสียก่อน”
 

ขณะเดียวกันเหตุผลที่ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครทำเป็นหนังสือมอบหมายงานโดยไม่ผ่านสภากรุงเทพมหานครนั้น ทราบมาว่าเกิดจากความเข้าใจว่ารายได้จากการเดินรถจะเพียงพอในการจ่ายค่าจ้างเดินรถโดยไม่ต้องตั้งงบประมาณชดเชย ซึ่งเมื่อดำเนินการจริง ๆ แล้วไม่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากในอนาคตจะต้องขออนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานครมาจ่ายในส่วนต่างของรายได้จากค่าโดยสารและค่าจ้างจากการเดินรถ จึงควรนำเรื่องนี้เข้าสภากรุงเทพมหานคร

 

 

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการตอบหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ได้ถามถึงแนวทางการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของผู้บริหารและสภากรุงเทพมหานครนั้น ปัจจุบันทางสภากรุงเทพมหานครได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เพื่อศึกษาในรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

 

 

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า จะนำประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่สภาได้ทันในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยที่ 4 ซึ่งจะประชุมครั้งสุดท้ายในวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565 นี้หรือไม่  ขณะนี้ทางวิปของฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครกำลังพูดคุยกันอยู่ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อาจจะต้องขยายเวลาการประชุมหรืออื่น ๆ เรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ทราบแนวทางการดำเนินงานต่อไป อีกทั้งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก และมีข้อกฎหมายหลายข้อ

26 ต.ค.นี้ ลุ้น สภากทม.เคาะค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

 

“ปัญหาหลาย ๆ เรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดจากการที่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครคิดเองทำเอง โดยไม่ปรึกษาสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งผู้บริหารและสภา กทม.ต้องดูให้รอบคอบ” นายชัชชาติกล่าว
 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.ส่วนสัมปทาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารเป็นของเอกชนเอกชนตามสัญญาสัมปทาน

 

 

2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า รายได้จากค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้จ้างเอกชนเดินรถต่อ มีการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย

 

 

3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างเอกชน โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้