แปลงความขัดแย้ง OCA พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา ให้กลับมาเป็นโอกาส

08 ต.ค. 2565 | 01:14 น.

เมื่อเดือนกันยายนมีคำให้สัมภาษณ์ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปความว่าไทยและกัมพูชาจะกลับมาเริ่มเจรจาหาข้อยุติเกี่ยวกับเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ในอ่าวไทยอีกครั้ง

แปลงความขัดแย้ง OCA พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา ให้กลับมาเป็นโอกาส

โดย คุรุจิต  นาคารทรรพ

ทั้งนี้หลังจากว่างเว้นมากว่า 16 ปี โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เจรจาหลัก ร่วมทีมด้วยกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานทางเทคนิคและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ผมเห็นว่าเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศมาก และควรสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยและเพื่อนบ้านทุกประเทศกำลังประสบชะตากรรมร่วมกันจากวิกฤติราคาพลังงานแพง ไม่ว่าจะนํ้ามันแพง ก๊าซหุงต้มแพง หรือไฟฟ้าแพง ซึ่งเป็นผลจากภาวะความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ภาวะตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อในยุโรป

 

สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานโลกค่อนข้างมาก ก็เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเรามีปริมาณสำรองจำกัด และมีกำลังผลิตที่ลดตํ่าลงอย่างน่าเป็นห่วง เมื่อก๊าซธรรมชาติในประเทศผลิตได้น้อยลง ไทยจึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปของเหลวแช่เย็นหรือที่เรียกว่า LNG (Liquefied Natural Gas) เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี แนวโน้มค่าไฟฟ้ารวมถึงเชื้อเพลิงก๊าซที่ใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรม จึงขยับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคา LNG ที่แพงขึ้นๆ ประเทศจึงตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน Energy Supply เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อการผลิตไฟฟ้า และเป็นต้นทางของอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ การพยายามเสาะแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติภายในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงควรเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลพึงผลักดันเกิดผลโดยเร็ว

แปลงความขัดแย้ง OCA พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา ให้กลับมาเป็นโอกาส

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันประชาคมโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการกล่าวถึงความพยายามในการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลด้วย

 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG ข้อที่ 7 Affordable and Clean Energy) กล่าวถึงการยอมรับราคาพลังงานที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ควบคู่ไปกับการเป็นพลังงานสะอาด ความจริงประการหนึ่งคือ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนตํ่า หลายๆ ประเทศยังคงพึ่งพาและลงทุนในการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ที่ดีกว่าและปลดปล่อย CO2 น้อยกว่าถ่านหินและนํ้ามัน จึงทำให้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มี Carbon Intensity ตํ่า ที่ทุกประเทศหันไปใช้ประโยชน์มากขึ้นตราบเท่าที่พลังงานทดแทนยังมีปัญหาความไม่เสถียรทั้งในด้านราคาและปริมาณ อย่างน้อยก็เป็นเวลาอีกไม่ตํ่ากว่า 30 ปี

 

กล่าวสรุป รัฐบาลไทยควรเร่งรัดเดินหน้าเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ OCA กับกัมพูชา แปลงความขัดแย้ง (conflicts) ให้กลับมาเป็นโอกาส (opportunities) การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) และปิโตรเคมีในอนาคต และจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศลงได้อีกส่วนหนึ่งด้วย