“คงกระพัน” วางกลยุทธ์ ปตท. แข็งแรงร่วมสังคมไทย-โตระดับโลกอย่างยั่งยืน

09 ส.ค. 2567 | 05:55 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 05:58 น.

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ภายใต้การนำของ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ คนที่ 11

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ถึงทิศทางการดำเนินการของ ปตท. ในระยะต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน

เติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

ดร.คงกระพัน ระบุว่า ปตท. จะคงบทบาทการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยจะดำเนินการภายใต้วิชั่น “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ดำเนินธุรกิจบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป

โดยพลังงานมีหลายรูปแบบ ที่วิวัฒนาการมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จนมาถึงยุคไฮโดรเจน ดังนั้น การดำเนินธุรกิจจึงต้องแข็งแรงคู่กับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลก แต่ทั้ง 2 เรื่องจะต้องยั่งยืน ตามความหมายที่ว่าเมื่อมีความมั่นคงแล้วต้นทุนก็จะต้องแข่งขันได้ และสร้างให้ประเทศไทยแข็งแรง โดย ปตท. ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) การดำเนินธุรกิจจึงจะต้องมีกำไรที่เหมาะสม เพราะน้อยไปก็ไม่ดี และมากไปก็คงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าเวลานี้รายได้เกินครึ่งของ ปตท. มาจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากนี้กำไรส่วนใหญ่ของ ปตท. มาจากบริษัทในเครือ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำตัวเองให้แข็งแรงและยั่งยืน เมื่อสังคมโลกมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอน ธุรกิจมีการปลดปล่อยคาร์บอนก็ต้องลดด้วย ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าต้นทุนด้านเทคโนโลยียังสูง จึงต้องทยอยปรับพอร์ทสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น โดย ปตท. รับนโยบายจากบอร์ดบริหารในฐานะรัฐวิสาหกิจจึงต้องเป็นองค์กรหลักของประเทศในการเป็นผู้นำเรื่องดังกล่าวนี้

“ด้วยบริบทที่เกิดขึ้น เมื่อมองไปข้างหน้าความมั่นคงด้านพลังงานจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น ในอดีตการขาดแคลนพลังงานยังพอรับไหว แต่ปัจจุบันจะต้องกลับมาให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคง และยิ่งทั่วโลกเกิดสงครามจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การสร้างพอร์ทพลังงานให้ประเทศจึงต้องดูบริบทความมั่นคงเป็นหลักด้วย”

สร้างความมั่นคงในประเทศ

ดร.คงกระพัน กล่าวอีกว่า กลยุทธ์หลังจากนี้จะต้องสร้างความมั่นคงในประเทศ โดยหาแหล่งพลังงานต่าง ๆ ที่รักษาต้นทุนได้ เช่น การดำเนินธุรกิจของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของ ปตท. เมื่อรับสัมปทานสำรวจแหล่งพลังงานแล้วสามารถนำเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าการนำเข้าจึงต้องมีแหล่งพลังงานที่อยู่ในประเทศ หรือในประเทศใกล้เคียง เพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาผันผวน

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว จะต้องมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วย โดยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แนวคิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้รับความสนใจทั่วโลก องค์กรต่างๆ เริ่มปรับตัววางกรอบนโยบายมากขึ้น กลุ่ม ปตท. จะมุ่งเน้นธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ทั้งธุรกิจแก๊ส น้ำมัน ปิโตรเคมี ฯลฯ ที่จะทำอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะด้วยวิกฤติโลกร้อนที่กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

"ปตท. จะทำสิ่งที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง และทำในสิ่งที่ดีขึ้น และสะอาดขึ้น เพื่อเปลี่ยนธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็น Net Zero ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ ปตท. มีความถนัด โดยความสำคัญในบริบท ปตท. จึงต้องเปลี่ยนวิธีทำไม่ใช่ความรับผิดชอบที่ได้แต่พูด แม้ไฮโดรคาร์บอนจะดี แต่บางส่วนก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงต้องทำสิ่งที่ใหญ่กว่าคือ ไฮโดรเจน หรือโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งต้องใช้งบลงทุนสูง"

รีวิวแผนธุรกิจใหม่เข้าบอร์ดเดือน ส.ค.

ดร.คงกระพัน กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างรีวิวแผนธุรกิจ เพราะพลังงานไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ต้องใช้ แต่จะต้องให้แน่ใจว่าสะอาด และสุดท้ายพลังงานจะต้องเหมาะสม โดยที่ผ่านมาหลายหน่วยงานมีการทดลองทั้งในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) แม้ ปตท.จะเข้ามาศึกษา เมื่อผ่านมาจุดหนึ่งกระแสโลกและการแข่งขันเปลี่ยนจึงพบว่า อีวีได้ต่างจากเดิม ปตท. จึงต้องปรับตัวและเลือกทำและสิ่งไหนดีก็ต้องขยาย และสิ่งไหนไม่ดีก็ต้องลดลง

สิ่งที่ ปตท. คำนึงและให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. ธุรกิจต้องดี 2.ขนาดต้องใหญ่ และ 3.ต้องมีจุดแข็ง ดังนั้น แผนที่จะต้องเข้าบอร์ดบริหาร ปตท. ช่วงเดือน ส.ค. 2567 จะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจรวมถึงงบลงทุนด้วย โดยจะต้องคำนึงว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับการมีพาร์ทเนอร์อันไหนจะดีกว่ากัน ดังนั้น ใน 3 เรื่องดังกล่าวนี้จึงสำคัญ เพื่อเติบโตคู่กับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย

“ปตท. เองคงต้องมุ่งเน้นการให้ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมัน ว่าจะแพงหรือถูกล้วนมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันกว่า 90% และมีหน่วยงานที่ควบคุมราคาน้ำมันตรงนี้อยู่ ซึ่งในหลักความจริงแล้ว จะพบว่าน้ำมันล้วนมาจากที่เดียวกัน ซึ่งหากราคาถูกไปก็ไม่ดี หรือแพงไปก็ไม่ดี เพราะหากถูกมากก็อาจใช้เยอะ แพงไปก็ทำให้เศรษฐกิจไม่โต จึงต้องหาจุดที่เหมาะสม”

ปตท. พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล