ตะลึง!นมร.ร.ไทยขายกัมพูชา มิลค์บอร์ดเต้นสั่งสอบ/ บิ๊กสหกรณ์วังนํ้าเย็นยันไม่ผิด

03 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

มิลค์บอร์ด เต้นสอบสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น หลังพบวางขาย"นมโรงเรียน"หรา ในร้านเอเชียมาร์เก็ต ในเมืองเสียมราฐของกัมพูชา เผยหลักฐานบิลใบเสร็จล่อซื้อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา วงในเปิดกฎจ่อตัดสิทธิ์ 5% หลังผิดเงื่อนไข ด้านบิ๊กวังน้ำเย็น โต้ยันไม่ผิด อ้างไม่ขายนมก็หมดอายุ ขู่ ใครมายุ่งฟ้องศาลปกครอง อีกด้าน 3 อปท.ร้อยเอ็ดรุมฟ้อง อ.ส.ค.ตัวแทนส่งนมโรงเรียนทำผิดเงื่อนไข

นายวสันต์ จีนหลง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนและมีหลักฐานจากนักท่องเที่ยวรายหนึ่งว่ามีตัวแทนสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ได้นำผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ไปวางจำหน่ายที่ร้านเอเชียมาร์เก็ต ในเมืองเสียบราฐของประเทศกัมพูชา โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างกล่องมีข้อความระบุชัดว่าห้ามจำหน่าย ในเรื่องนี้ทางมิลค์บอร์ดอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องราวว่านำไปวางจำหน่ายได้อย่างไร ทางสหกรณ์รับทราบ หรือรู้เห็นหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วผิดเงื่อนไข ข้อ 6.6.6. (ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและผู้รับจ้างขนส่งดำเนินการจำหน่ายและขนส่งผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายเฉพาะภายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและภายในประเทศเท่านั้น) ซึ่งกรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขให้ลดสิทธิ์ส่วนที่เหลือทันที 5%

แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด กล่าวเสริมว่า สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ตั้งอยู่จังหวัดสระแก้ว ได้รับการจัดสรรสิทธิ์อาหารเสริม (นม)โรงเรียน ส่วนใหญ่จะติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายมากที่สุด ยกตัวอย่าง ในช่วงที่มีการบริหารงานโดย 4 สมาคม ได้รับการจัดสรรปริมาณน้ำนมโค 130.26 ตันต่อวัน หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ที่มีนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเข้ามาจัดสรรใหม่ในภาคเรียนที่ 2/2558 ได้รับสิทธิ์ ปริมาณน้ำนมโค 93.052 ตันต่อวัน (เด็กนักเรียน 7.6 ล้านคน) จากมีผู้ประกอบการ 72 รายเข้าร่วม ล่าสุดการจัดสรรสิทธิ์ ปี 2559 ยังได้รับการจัดสรรปริมาณน้ำนมโคคงเดิมที่วันละ 93.052 ตัน ขณะที่จำนวนเด็กลดลงไป 2 แสนคน(เหลือ 7.4 ล้านคน) ปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการที่เข้าร่วม 67 ราย ส่วนอีก 4 รายที่ไม่ได้รับการจัดสรร ได้แก่ 1.บมจ.พรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) (เดิมได้รับจัดสรร 10 ตันต่อวัน) 2.หจก.มหาสารคามนมสด (เดิมได้รับจัดสรร 2.70 ตัน/วัน ) 3.สหกรณ์โคนมหินซ้อน จำกัด (เดิมได้รบจัดสรร 7.32 ตันต่อวัน) และ 4.บจก.เทียนขำแดรี่ (เดิมได้รับจัดสรร 10.045 ตันต่อวัน) รวมกันแล้วที่โดนตัดสิทธิ์ 30.065 ตันต่อวัน เนื่องจากหลายเหตุผล

ด้านนายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่มีนมโรงเรียนของทางสหกรณ์ไปวางขายในกัมพูชา โดยยืนยันว่าเป็นความจริง และยืนยันว่าไม่ผิด เพราะค่าใช้จ่ายกล่อง น้ำนมดิบ สหกรณ์เป็นคนซื้อ ไม่ได้ใช้เงินหลวงซื้อสักสลึงเดียว โดยนมดังกล่าวเป็นนมที่ทางมิลค์บอร์ดบังคับให้ผลิตในช่วงปิดเทอม 30 วัน ที่ต้องขายออกไป เพราะหากไม่ขายก็หมดอายุ อีกทั้งการขายไปกัมพูชา ก็มีหนังสือซื้อขายถูกต้อง ที่สำคัญการขายนมกล่องในโมเดิร์นเทรดของกัมพูชา ไม่ได้วางขายง่ายๆ ดังนั้นการที่ทางสหกรณ์นำแบรนด์นมโรงเรียนไปวางจำหน่ายได้ นับว่าเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยว่าใช้น้ำนมดิบมีคุณภาพและเด็กไทยได้ดื่มนมที่ดี

"ถ้าไม่เอาไปจำหน่าย สหกรณ์แบกสต๊อกแล้วเงินก็จมฟรี ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายสหกรณ์ขาดทุน ใครจะมารับผิดชอบสมาชิกกว่า 1 พันครอบครัว ดังนั้นหากใครมายุ่ง จะนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครอง ส่วนเรื่องจะมาลดสิทธิ์ /ตัดสิทธิ์ ผมยืนยันว่าไม่ผิด ที่สำคัญนมโรงเรียน ขายได้ราคา เฉลี่ยกล่องละ 15 บาท ที่กัมพูชาถือว่าคุ้มค่า จะระบายจนกว่าของจะหมด ปัจจุบันมีการซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างกันปีละ 20 ล้านบาทถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง"

แหล่งข่าวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เผยว่า ขณะนี้มี 3 องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในจังหวัดร้อยเอ็ด ร้องเรียนเข้ามา ประกอบด้วย อบต.คำไฮ อบต.นานวล และอบต.ค้อใหญ่ โดยระบุว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนกับบริษัท แดรี่ คิวฟาร์ม จำกัด ซึ่งรับมอบอำนาจจาก อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการส่งมอบสินค้าตามเงื่อนไขได้ เพราะบริษัทมีการผลิตเฉพาะนมยูเอชที ไม่มีการผลิตนมพาสเจอไรซ์ ทำให้ทาง อบต.ไม่มีงบเพียงพอในการจัดซื้อ ทำให้เดือดร้อน และขอให้ อ.ส.ค.ช่วยแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559