“แลนด์บริดจ์”เนื้อหอม“CHEC” ยักษ์ก่อสร้างจีนประกาศร่วมวงลงทุน

18 ต.ค. 2566 | 09:15 น.

"แลนด์บริดจ์" เนื้อหอม ประธานบริษัท CHEC บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน พบ นายกฯ ประกาศร่วมวงลงทุน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายหวัง ถงโจว ประธาน บริษัท CHEC เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โดย CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน และดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 ประกอบธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และการให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง

นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งว่าคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับหลักการโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2582 พร้อมยินดีที่บริษัท CHEC ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างและคมนาคม อันดับ 1 ของเอเชีย ได้มีการเข้ามาลงทุนในไทย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงเฟส 3

ขณะที่ประธานบริษัท CHEC กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากไทยด้วยดีมาตลอด และหวังว่าโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) จะเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือเข้าสู่มิติใหม่ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยินดีที่ไทยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบถ้วนครอบคลุมในประเทศ พร้อมเสนอความร่วมมือของบริษัทฯ คือ

1. ทางหลวงและระบบราง เฟส 3 ของแหลมฉบัง ดำเนินไปด้วยดี มีแผนผนวกท่าเรือ เมือง และนิคมเข้าด้วยกัน และ

2. บริษัทฯ ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ Land bridge ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความยินดีหากบริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมใน Land bridge ที่มีโครงการสร้างและขยายสนามบินด้วย

หวัง ถงโจว ประธานบริษัท CHEC

"นายกฯ ขอให้บริษัทฯ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของไทย อาทิ กระทรวงคมนาคม ส่วนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย อย่าง Land bridge ท่าเรือ โครงการรถไฟ ขอให้คุยกับ BOI ในการเข้ามาลงทุน เพื่อขอรับสิทธิพิเศษการลงทุนตามนโยบาย และในโอกาสนี้ นายกฯ ยังเชิญชวนบริษัทฯ ให้เปิด regional office ในไทยเพื่อประโยชน์ยิ่งขึ้นด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน ประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ ที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกันประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ

รูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน  ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ

ประมาณการลงทุนโครงการ

ระยะที่ 1 รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท
  • ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

ระยะที่ 2 รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท

ระยะที่ 3 รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท

ระยะที่ 4 รวมประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท