จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย

08 มี.ค. 2566 | 06:07 น.

เปิดเบื้องลึกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ส่อทุจริตเอื้อเอกชนบางราย สู่เม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสียถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเปิดให้สมาชิกสมาคมฯ ได้ส่งบทความเข้าประกวดในโครงการประกวด “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์” (ลับคมความคิด) ประจำปี 2565 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะในการนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ เพื่อคนในสังคมส่วนใหญ่ได้หันมาให้ความสนใจกับข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น โดยบทความที่ได้จากโครงการนี้จะได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งในส่วนที่ดำเนินการโดย สมาคมฯ และสื่อต้นสังกัดของสมาชิก ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

 

 โครงการดังกล่าวทางสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการใช้ชื่อ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะที่เป็นปราชญ์ทางเศรษฐกิจ

 

 สำหรับบทความ จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย โดย : อนัญญา จั่นมาลี รางวัลที่ 1 จาก การโครงการประกวด “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์”(ลับคมความคิด) ครั้งที่ 16 ประจำปี 2565 รางวัลบทความ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ที่ผ่านมาจะพบว่าในประเทศไทยมีการประมูลโครงการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมมากมาย ซึ่งบางโครงการมักจะพบว่ามีการทุจริตหรือส่อฮั้วประมูลนับไม่ถ้วน 1 ในโครงการฯเหล่านั้น คือ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เป็นโครงการฯที่กลายเป็นกระแสมาตลอด จนนำมาสู่การฟ้องร้องที่ยังไม่สิ้นสุดจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงนำบทความวิเคราะห์ข่าว จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย เพื่อสะท้อนให้ประชาชนได้ทราบถึงเบื้องลึกการส่อทุจริตประมูลโครงการในปัจจุบัน 


ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีแผนเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งตารอวันที่รถไฟฟ้าสายนี้พร้อมเปิดให้บริการ เนื่องจากโครงการฯนี้มีแนวเส้นทางผ่านใจกลางเมืองจากทางทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตกหลายแห่ง ที่ลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น, ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ รวมทั้งย่านเมืองเก่า 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (งานโยธา) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ต่อมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการขายซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนและมีผู้ซื้อซองเอกสารรวม 10 ราย โดยกำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 แต่ในช่วงที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เริ่มประกาศขายซองข้อเสนอให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น มีความไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มเปิดประมูลโครงการฯ

 

 เนื่องจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯโดยระบุว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ เป็นเหตุให้สคร.ได้ทำหนังสือถึงนายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เรื่องการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ซึ่งเป็นจุดชนวนที่ทำให้รฟม.ปรับเปลี่ยนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายนี้ โดยรื้อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ หลังจาก รฟม. ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน 
 

ขณะที่กระบวนการพิจารณาและเปิดซองประมูล จะทำเป็นขั้นตอน คือ เมื่อเปิดซองที่ 1 หรือซองคุณสมบัติ แล้วผ่าน ก็จะเปิดซองที่ 2 คือ ซองเทคนิค และเมื่อซองเทคนิคผ่านแล้ว จึงจะเปิดซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองข้อเสนอราคาและผลตอบแทน เป็นเหตุให้บีทีเอสฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รวมทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยกฎหมายจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนนำมาสู่การล้มประมูลโครงการฯ


ถึงแม้ว่าปัจจุบันคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ในการพิจารณาจากศาล แต่รฟม.ยังคงเดินหน้าที่จะเริ่มต้นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 โดยการเปิดประมูลในครั้งนี้กลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่มีความเข้มข้นมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลครั้งที่ 2 บริษัทรับเหมาเข้าร่วมประมูลได้ยากกว่าครั้งที่ 1 เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติ ทำให้เข้าประมูลได้ยากขึ้น ซึ่งในโลกนี้มีบริษัทผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบแค่ 2 บริษัทเท่านั้น คือ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ส่วนบริษัทผู้รับเหมารายอื่นจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ ซึ่งไม่ง่าย เพราะ รฟม.กำหนดไว้ว่า ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51% ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้ ต่างจากการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งเปิดกว้างคุณสมบัติของบริษัทรับเหมามากกว่า


ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เข้าประมูลแค่ 2 ราย เท่านั้น คือ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้

ล่าสุดการเปิดซองเสนอของเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังคงดำเนินการต่อ โดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอทั้งด้านคุณสมบัติ,ด้านเทคนิค และด้านผลตอบแทนและการลงทุนครบทั้ง 3 ซอง พบว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) เท่ากับ  -78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ (NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท ซึ่ง BEM เป็นเอกชนที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากรฟม.ต่ำสุด ถือเป็นผู้ชนะการประมูลในรอบนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 ซึ่งถูกล้มไป BTSC ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. -9,675.42 ล้านบาท เท่ากับรฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ BTSC ถึง 68,612.53 ล้านบาท 

“บริษัทยืนยันว่าสามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากบริษัทเสนอต่ำกว่าราคากลาง ที่ 79,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ส่วนราคากลาง อยู่ที่ 96,000 ล้านบาท ทำให้เราตั้งข้อสังเกตว่าราคากลางรัฐประเมินไว้สูงเกินจริงหรือไม่ ขณะที่ผู้ชนะประมูลรอบที่ 2 ไม่ทราบแน่ชัด เพราะไม่มีการเปิดเผย มองว่าควรนับย้อนไปถึงการประมูลรอบแรกหรือปี 2563 เนื่องจากคำสั่งศาลในการประมูลรอบแรก ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันในการประมูลครั้งที่ 2”

จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย

นาย สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตหลัง BTSC เปิดตัวเลขที่ขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม.ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกแค่ 9,600 ล้านบาท ต่ำกว่า BEM ผู้ชนะการประมูลถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งข้อเสนอของ BTSC ในการประมูลครั้งที่ 1 สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 ได้ เพราะราคากลางค่าก่อสร้างในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง เท่ากัน คือ 96,012 ล้านบาท รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เหมือนกัน

ส่วนกรณีที่ BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 ได้นั้น เพราะไม่สามารถหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องประกอบด้วย ผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตมาหลายครั้งว่า ในการประมูลครั้งที่ 2 นั้น รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าให้ผ่านเกณฑ์ง่ายขึ้น แต่ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น

“เมื่อดูรายละเอียดในข้อเสนอของ BTSC พบว่า BTSC เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท หรือเสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากราคากลางค่าก่อสร้างของ รฟม. อยู่ที่ 96,012 ล้านบาท สูงกว่าที่ BTSC ขอรับการสนับสนุนถึง 16,191.60 ล้านบาท ” 

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้จะได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูลเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งยังเหลือขั้นตอนการนำผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณา ต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบตามลำดับเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป 

ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายยังคาใจปมส่วนต่าง 68,000 ล้านบาท ที่อาจทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ อีกทั้งคำสั่งศาลปกครองกลางที่เคยมีคำสั่งทุเลาการใช้เกณฑ์การประมูลใหม่ ในคราวประมูลรอบแรกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในการประมูลรอบที่ 2 ยังคาราคาซัง และไม่มีท่าทีว่าการประมูลครั้งนี้จะสิ้นสุดลงตรงไหน หรือภาครัฐจะปล่อยให้เงินก้อนโต ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนหายไปกับการประมูลในครั้งนี้อย่างนั้นหรือ