“รฟม.” ไม่ถอย จ่อชงครม.เคาะเซ็นสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

03 มี.ค. 2566 | 08:38 น.

“รฟม.” เล็งเดินหน้าลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง ปมเปลี่ยนหลักเกณฑ์เอื้อเอกชนบางราย ยันโครงการฯล่าช้า 2 ปี หวั่นประชาชนเสียโอกาส

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขหลักเกณฑ์โดยชอบแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

ทั้งนี้เมื่อศาลปกคลองกลางโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางก็ได้เห็นว่า การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และประกาศเชิญชวนฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น ๆ แล้ว 
 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า  รฟม.เห็นสมควรเร่งรัดและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามขั้นตอนเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไปเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งเป็นโครงการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง

เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและการเสียโอกาสของประชาชนในการใช้ประโยชน์โครงการ รวมถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลโครงสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก ที่จะแล้วเสร็จในอนาคต

“รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน”
 

ทั้งนี้ตามแผนกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการคัดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย รวมถึงดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 62 โดยทางฝ่ายกฎหมายของ รฟม. จะต้องสรุปรายละเอียดคำพิพากษากลับมายังฝ่ายกฎหมายกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ในช่วงที่ผ่านมารฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนฯ และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 เรื่อยมา

ทั้งนี้ศาลปกครองและศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาในหลายคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยชอบแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการฟ้องร้องเป็นคดีความในการดำเนินงานคัดเลือกเอกชนฯ ส่งผลให้โครงการ มีความล่าช้ากว่า 2 ปีแล้ว

สำหรับคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มในปัจจุบันมีคดีที่อยู่ในศาลปกครอง จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย  

1.คดีศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ โดยตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบัน  อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด 

2.คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะเอกสารประกาศประกวดราคา (RFP) กีดกัน BTSC โดยการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC ส่วนการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 

 

นอกจากนี้ยังมีคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอีก 1 คดี คือ คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติ  มิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ทั้งนี้ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่าง BTSC ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา