ศาลชี้ยกฟ้องปมแก้หลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่มีผลผูกพันอีก 2 คดี

07 มี.ค. 2566 | 06:02 น.

ศาลปกครองยันยกฟ้องคดีแก้หลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่มีผลผูกพันอีก 2 คดีที่กำลังพิจารณาอยู่ เหตุข้อเท็จจริงต่างกัน

วันนี้( 7 มี.ค.66) นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า มีการฟ้องคดีในศาลปกครองทั้งสิ้นรวม 3 คดี  
คดีแรก เกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปแล้ว โดยมติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ยกฟ้อง 

คดีที่ 2 เป็นคดีที่ BTSC  ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน ซึ่งศาลปกครองกลาง หรือ คำพิพากษาให้ผู้ฟ้องชนะคดี และมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และได้มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคำพิพากษาขององค์คณะซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายอีกไม่นานก็จะมีคำพิพากษา  

ส่วนคดีที่ 3 เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการประมูลรอบใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยการจะเร่งรัด อาจจะมีการย่นระยะเวลาในบางขั้นตอนได้ ซึ่งก็ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่บางครั้งพยานหลักฐาน เอกสารมีจำนวนมาก ก็ต้องใช้เวลา

ส่วนที่เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟม.) สามารถแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลคัดเลือกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ ก็ไม่ได้มีผลกับอีก 2 คดี ที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่ เพราะแม้ทั้ง 3 คดีพยานหลักฐานแต่ละคดีอาจจะเหมือน หรือ แตกต่างกันอยู่  แต่ข้อเท็จจริงของแต่ละคดีไม่เหมือนกัน 

คดีแรกเป็นเรื่องของการแก้ไขหลักเกณฑ์ คดีที่ 2 เป็นเรื่องของการยกเลิกการประมูล และคดีที่ 3 เป็นเรื่องของการประมูลใหม่ ซึ่งผลของแต่ละคดีจะไม่ผูกพันกัน โดยขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในคดีที่ 2 และที่ 3 จะเป็นอย่างไร  

นายประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีแรกที่มีตุลาการเสียงข้างน้อย 20 คน เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ อาจทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง ว่า คดีนี้คำพิพากษามีความละเอียดชัดเจนกว่า 200 หน้า คิดว่าถ้าประชาชนได้อ่านจะเข้าใจ เหลือแต่ว่าจะเห็นด้วยกับทางไหน ซึ่งการพิจารณาเป็นการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  

เมื่อถามว่าผลของคำพิพากษาดังกล่าว อาจทำให้รฟม.มีความเชื่อมั่นและเดินหน้านำเรื่องเสนอครม.ก่อนลงนามสัญญา หากมีผู้ไม่เห็นด้วยสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่ นายประวิตร ไม่ขอตอบ โดยระบุว่า ไม่อยู่ในวิสัยที่ควรจะแสดงความเห็น