สรุปข่าวเด่น ปี 2565 “ประกันรายได้” สะดุด อาหารสัตว์แพงร้อนข้ามปี

30 ธ.ค. 2565 | 05:10 น.

รวมสรุปประเด็ดร้อน ส่งข้ามปี 2566 ประกันรายได้เกษตรกร ปี 4 ส่อสะดุด หลัง ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยังจ่อ ครม. ขณะ “ข้าว” ประกันราคาลอยลำ พ่วงโบนัส “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท ชาวนาแฮ้ปปี้ ส่วนอาหารสัตว์ แพงร้อนข้ามปี

ปี2565 เป็นปีที่ประเทศ ไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยลบทั้งโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาพลังงาน อาหาร เงินเฟ้อโลกพุ่ง ส่งผลให้สินค้าเชื้อเพลิง วัตถุดิบนำเข้า และปัจจัยการการผลิตหลักเกือบทุกรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น สินค้าที่เป็นต้นทุนของเกษตรกรที่ไทยต้องนำเข้าเกือบ 100%

 

ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช นํ้ามันดีเซล รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ปรับขึ้นยกแผง ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมามีข่าวเด่นประเด็นร้อนในแวดวงภาคเกษตรที่เป็นผลพวงตามมาที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอ และขอสรุปไว้เป็นไฮไลท์ดังนี้

 

ประกันรายได้ปี 4 เครื่องสะดุด

โพลผลงานรัฐบาลในอันดับต้นๆ ที่ประชาชนยกนิ้วให้ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ใน 5 พืชเศรษฐกิจ (ข้าว ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง) ที่ได้ดำเนินมาเข้าสู่ที่ 4 ในเวลานี้ แต่ด้วยรัฐบาลอยู่ในภาวะกรอบเงินกู้เต็มเพดาน ทำให้พืชเกษตรอีก 4 ตัวในโครงการประกันรายได้ในเวลานี้ ทั้งปาล์มนํ้ามัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังต้องรอการพิจารณาจากรัฐบาล ขณะที่ “ข้าว”ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

 

 

สรุปข่าวเด่น ปี 2565 “ประกันรายได้” สะดุด อาหารสัตว์แพงร้อนข้ามปี

 

ทั้งนี้โดยรวม 5 พืชในโครงการประกันรายได้ในปีที่ 4 ก่อนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดวาระ จะต้องใช้เงินสนับสนุนถึง 110,453.186 ล้านบาท ดังนั้นต้องจับตาโค้งสุดท้ายของรัฐบาลที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อ เพื่อรักษาฐานเสียงเกษตรกร 8.161 ล้านครัวเรือนในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า

 

วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงข้ามปี

สงครามรัสเซีย-ยูเครน (คลิกอ่าน)  ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และยังยืดเยื้อไร้จุดจบจนถึง ณ ปัจจุบัน และผลจาก 2 ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชที่เป็นอาหารคน และใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ ทำให้ราคาธัญพืชเหล่านี้ยังอยู่ในระดับสูง จากภาวะสงครามทำให้มีอุปสรรคต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตธัญพืชของโลกขาดแคลน และราคายังทรงตัวในระดับสูง กระทบโรงงานอาหารสัตว์ในไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น (ดูกราฟิกประกอบ)

 

 

ราคาพืชอาหารสัตว์โลก

 

ในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ได้ยกเลิกมาตรการ 3:1 (ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ชั่วคราว (พ.ค.-ก.ค. 2565) หวังช่วยลดต้นทุนโรงงานอาหารสัตว์ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่อาหารสัตว์ที่เกษตรกรซื้อแม้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุมัติให้ปรับราคา แต่ข้อเท็จจริงในตลาดการซื้อขายเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าราคาได้ปรับขึ้นไปแล้ว

 

อินโดฯโละ 7 ล้านตัน กดราคาปาล์มร่วง (คลิกอ่าน)

ผลจากอินโดนีเซีย ผู้ผลิตและส่งออกนํ้ามันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก ได้ประกาศยกเลิกภาษีส่งออก สำหรับผลิตภัณฑ์นํ้ามันปาล์มถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 เพื่อระบายสต๊อกนํ้ามันปาล์มส่วนเกินในประเทศที่สูงถึง 7 ล้านตัน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคานํ้ามันปาล์มในตลาดโลกรวมถึงในประเทศไทยลดลง จากผลปาล์มในประเทศที่เคยทำนิวไฮแตะ 12 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เวลานี้ลดลงเหลือ 4-5 บาท ต่อกก. เป็นอีกประเด็นร้อนที่รัฐบาลต้องเร่งบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล การผลักดันการส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบ(CPO) และอื่นๆ เพื่อไม่ให้ราคาร่วงไปมากกว่านี้

 

โรค ASF อุบัติในไทยครั้งแรก (คลิกอ่าน)

 

วันที่ 11 มกราคม 2565กรมปศุสัตว์ได้ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่าได้เกิดโรคอุบัติใหม่ “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” หรือโรค ASF แพร่ระบาดในไทยครั้งแรก ต่อมาได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงการเลี้ยงหมูของประเทศ โดยรายใหญ่รายกลางต่างหาวิธีป้องกันกันอย่างเต็มที่ ส่วนรายเล็กที่มีกำลังไม่มากพอต้องนํ้าตาตก เลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก

 

สรุปข่าวเด่น ปี 2565 “ประกันรายได้” สะดุด อาหารสัตว์แพงร้อนข้ามปี

 

ครั้นเวลานี้สถานการณ์ ASF ซาลง เกษตรกรเริ่มกลับคืนสู่อาชีพก็มาเจอ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้า ที่เสี่ยงต่อพาหะนำโรค และสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ที่นำมาซุกตามห้องเย็นต่างๆ เพื่อส่งขายในทุกภาคของประเทศในราคาตํ่า กระทบเกษตรกรขาดแรงจูงใจในการเลี้ยงหมู

 

ไทยเฮผลิต“ผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่” ได้เอง (คลิกอ่าน)

ปิดท้ายด้วยข่าวดี ๆ กันบ้าง สมควรให้รับการยกย่องในวงการไก่ไข่ เมื่อ ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฮอริเทจ บรีดดิ้ง จำกัด เจ้าของมานิจฟาร์ม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี สามารถวิจัยพัฒนาและผลิตพ่อแม่-ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ได้เองเป็นรายแรกของประเทศ โดยเวอร์ชั่นแรก ให้ปริมาณไข่ไก่เฉลี่ย 312 ฟองต่อแม่ต่อปี เวอร์ชั่น 2 เฉลี่ย 317 ฟองต่อแม่ต่อปี

 

 

ส่วนเวอร์ชั่น 3 ที่จะกระจายพันธุ์ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 คาดจะให้ผลผลิต มากกว่า 317 ฟองต่อแม่ต่อปี โดยให้ไข่ฟองแรกเพียง 15 สัปดาห์ของการเลี้ยง เร็วกว่าแม่ไก่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยกรมปศุสัตว์แจ้งว่าให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร ไม่ปิดกั้น จากเดิมเกษตรกรจะซื้อพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จาก 16 บริษัทที่ขอโควตานำเข้าทุกปี

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29-31 ธันวาคม พ.ศ. 2565