อินโดฯ สั่งโละ 7 ล้านตัน ทุบราคาปาล์มโลกร่วง ไทยเร่งส่งออก ลดสต๊อกบวม

28 ต.ค. 2565 | 08:21 น.

อินโดฯโละสต๊อกน้ำมันปาล์ม 7 ล้านตัน พ่นพิษ ทุบราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกร่วงกระทบชิ่งราคาผลปาล์มรูด “กนป.” สั่งปรับเงื่อนไขใหม่ ขยายชดเชย 300 ล้าน เป็นสิ้นสุด มี.ค. 66 เร่งดันส่งออก หลังสต๊อกบวมเกิน 3 แสนตัน ด้านสมาคมปาล์มน้ำมันฯ ยื่นหนังสือ “จุรินทร์” ร้องราคาไม่เป็นธรรม

 วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 อินโดนีเซียประกาศยกเลิกภาษีส่งออก(Export Levy) สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งหมด (น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์) ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เพื่อกระตุ้นการส่งออกและลดสต๊อกส่วนเกินในประเทศ

 

อินโดฯ สั่งโละ 7 ล้านตัน  ทุบราคาปาล์มโลกร่วง ไทยเร่งส่งออก ลดสต๊อกบวม

 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด อินโดนีเซียได้ขยายเวลาประกาศยกเลิกภาษีส่งออก (Export Levy) สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มข้างต้น เป็นสิ้นเดือนธันวาคม 2565เพื่อระบายสต๊อกน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศที่สูงถึง 7 ล้านตัน  ผลพวงดังกล่าว กระทบราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลง

 

โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อ้างอิงตลาดมาเลเซีย ณ เดือนตุลาคม 2565 (เฉลี่ย 1 สัปดาห์) เฉลี่ยตันละ 3,514.19 ริงกิต (28.83 บาทต่อกิโลกรัม) ปรับตัวลดลงจากเฉลี่ยตันละ 3,599.21 ริงกิต (29.71 บาท ต่อกิโลกรัม) ในเดือนกันยายน 2565 หรือลดลง 2.36% และปรับตัวลดลง 32.12% จากเฉลี่ยตันละ 5,176.75 ริงกิต (42.19 บาทต่อกิโลกรัม) ในช่วงเดียวกันของปี 2564

 

 

ขณะสถานการณ์ราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบของไทย ณ ปัจจุบัน (21 ต.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 5.50 และ 31.75 บาท ตามลำดับ และลดลงร้อยละ 4% และ 3%  ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลง 32% และ 25% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

ทั้งนี้ จากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในระบบของไทยสะสมสูงกว่า 3 แสนตัน ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป หากไม่สามารถผลักดันการส่งออกไปต่างประเทศได้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยในระยะต่อไปได้ โดยจากการทวนสอบข้อมูลพยากรณ์ผลผลิตรายไตรมาส (ณ ก.ย. 65) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า ปี 2565 จะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาด 17.76 ล้านตัน  เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม (ณ มิ.ย. 65) ที่ 17.46 ล้านตัน

 

 

อินโดฯ สั่งโละ 7 ล้านตัน  ทุบราคาปาล์มโลกร่วง ไทยเร่งส่งออก ลดสต๊อกบวม

 

โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีผลปาล์มออกสู่ตลาดเฉลี่ย 1.39 ล้านตันต่อเดือน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (อัตราน้ำมัน 18%) เฉลี่ย 0.25 ล้านตันต่อเดือน สูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ย 0.17-0.18 ล้านตันต่อเดือน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศทั้งเพื่อการบริโภค ใช้ในอุตสาหกรรมและพลังงาน ปรับลดลงจากช่วงที่ผ่านมาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การใช้ในทุกภาคส่วนยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

 

 ประกอบกับการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศปัจจุบันโดยภาพรวม(เฉลี่ยเดือน ม.ค.-ส.ค. 65) อยู่ที่ 171,865 ตันต่อเดือน และคาดความต้องการใช้เฉลี่ยในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 170,000 ตันต่อเดือน ลดลงจากความต้องการใช้เฉลี่ย ปี 2564 (198,474 ตัน) หรือลดลงประมาณ 28,474 ตัน หากไม่ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสะสมสูงกว่า 3 แสนตันตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป 

 

 

ดังนั้น กนป.จึงได้ขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566  เป้าหมาย 1.5 แสนตัน วงเงิน 309 ล้านบาท (เงินชดเชย 300 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 9 ล้านบาท) โดยสนับสนุนค่าส่งออก กก.ละ 2 บาท  โดยปรับเงื่อนไขใหม่ จากเดิมสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบต้องสูงกว่า 3 แสนตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศต้องสูงกว่าราคาตลาดโลก เป็นสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบต้องสูงกว่า 2.5 แสนตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศต้องสูงกว่าราคาตลาดโลก และจากสิ้นสุดถึงเดือนกันยายน 2565 ขยายเป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2566

 

อินโดฯ สั่งโละ 7 ล้านตัน  ทุบราคาปาล์มโลกร่วง ไทยเร่งส่งออก ลดสต๊อกบวม

 

ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความผันผวนอย่างมาก กระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มกว่า 3.8 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยยังออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ ประกอบกับ ภาวะการค้าและการบริโภคยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยสิ้นเชิง ทำให้ระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในประเทศจะมีแนวโน้มสูงเกินกว่าระดับ 3 แสนตัน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป (กราฟิกประกอบ)

 

ส่วนสถานการณ์การส่งออกน้ำมันปาล์ม (CPO, น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์) ของไทยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ คาดจะส่งออกรวม 7.2 แสนตัน เพิ่มขึ้น 2.7 แสนตัน (+60%) จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ 4.5 แสนตัน

 

 

นายเกรียงไกร นาคสุวรรณ ผู้แทนจาก สมาคมปาล์มน้ำมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) (19 ต.ค.65) ร้องเรียนเรื่อง ราคาปาล์มไม่เป็นธรรม จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน ราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาน้ำมันขวด ราคาปาล์มทะลาย ไม่มีความสัมพันธ์ด้านราคาที่เป็นธรรม กล่าวคือ ราคาปาล์มทะลายอยู่ที่ 4.50-5.20 บาทต่อกก. แต่ราคาน้ำมันปาล์มขวดยังขายราคาสูงที่ขวดลิตรละ 55 บาท ขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เพื่อคุ้มครองความเป็นธรรมด้านราคาให้กับปาล์มทั้งระบบ

 

อินโดฯ สั่งโละ 7 ล้านตัน  ทุบราคาปาล์มโลกร่วง ไทยเร่งส่งออก ลดสต๊อกบวม

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,830 วันที่ 27-29 ตุลาคม 2565

 

 

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่ รายงาน ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมัน ณ โรงสกัดน้ำมันปาล์มจังหวัดกระบี่ ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2565

 

 

 

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร  ราคาปาล์มวันนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2565